นายยูเฮ วาดะ ผู้อำนวยการ สำนักงาน The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships (AOTS) กรุงเทพฯ กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่น เปิดศูนย์ฝึกอบรม Lean IoT Plant management and Execution (LIPE) ที่ดำเนินขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรสาขาวิศวกรรม โดยนำระบบ IoT ที่เรียบง่ายมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพและความสามารถทางการแข่งขันของภาคการผลิต เพื่อนำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมที่ง่ายต่อการนำหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ และยังช่วยเพิ่มความต้องการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการวางรากฐานให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
AOTS ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ประเทศไทยและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทย ให้ดำเนินโครงการ LIPE เฟสที่ 1 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นได้จัดฝึกอบรมตามหลักสูตรโครงการ LIPE เป็นจำนวน 13 ครั้งให้กับวิศวกรชาวไทยกว่า 300 คน ปัจจุบันศูนย์ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ LIPE ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย AOTS จึงถือโอกาสนี้ในการเริ่มดำเนินโครงการ LIPE เฟสที่ 2 ขึ้น
เนื้อหาของโครงการ LIPE คือ การฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิตด้วยการลงทุนในระบบ IoT ขนาดย่อมที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยอาศัยประสบการณ์กว่าครึ่งศตวรรษที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นได้สั่งสมมา โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยีดิจิทัลของไทยและญี่ปุ่นมาร่วมพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมนี้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยวาเซดะ Toyo Business Engineering (Thailand) Co., Ltd., DENSO INTERNATIONAL ASIA Co., Ltd. จากประเทศญี่ปุ่น และสถาบันไทย-เยอรมัน, สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เทคนิมอล จำกัด จากประเทศไทย ในการนี้ผู้จัดได้ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากร LIPE อย่างเต็มรูปแบบด้วยการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม LIPE (ศูนย์พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีขั้นสูง) ขึ้นที่สถาบันไทย-เยอรมัน (ศูนย์กรุงเทพ) ภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ โครงการ LIPE ตั้งเป้าฝึกอบรมและพัฒนาวิศวกรไทยให้ได้มากกว่า 10,000 คน โดยเริ่มจากการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรม LIPE หลังจากนั้นได้วางแผนในการขยายศูนย์ฝึกอบรมออกไป ซึ่งได้รับร่วมมือจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ภายในประเทศ ช่วงเฟส 1 ของโครงการในปีพ.ศ. 2563 นั้น มีสถาบันการศึกษา 16 สถาบัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ 36 ท่าน เข้าร่วมการอบรมนี้ อาทิเช่น สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากความร่วมมือของสถาบันการศึกษาดังกล่าว ทำให้โครงการสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว และมุ่งสู่แผนพัฒนาทักษะของวิศวกรไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีจำนวนหลายหมื่นคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคการผลิตของไทยตามนโยบาย Thailand 4.0
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ในปีพ.ศ. 2561 AOTS มีความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ในการจัดฝึกอบรมหัวข้อ “LASI (Lean Automation System Integrators)” สำหรับ Robot System Integrator โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เต็มรูปแบบ ซึ่งมีผู้ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วกว่า 800 คน แต่ทว่ายังมีอุปสรรคในการนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมจริง จึงทำให้เกิดการฝึกอบรม LIPE ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของนโยบาย Thailand 4.0 อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขันของภาคการผลิตในประเทศไทย โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อีกด้วย
นอกจากนี้ เพื่อให้โครงการ LIPE เกิดประสิทธิผลสูงสุด จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความจำเป็นและประสิทธิผลของการลงทุนในระบบ IoT ให้กับผู้บริหารในภาคธุรกิจ AOTS จึงจัดงานสัมมนาเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันผ่านการลงทุนในระบบ IoT ในวันศุกร์ที่ 5 มีนาคมนี้ ภายในงานสัมมนา จะมีการบรรยายรายละเอียดโครงการ LIPE และการแนะนำ SMKL (Smart Manufacturing Kaizen Level) ที่พัฒนาล่าสุดโดยองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (IAF) โดย SMKL เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถวางแผนการพัฒนากระบวนการผลิตทีละขั้นตอนเพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ผ่านตัวชี้วัดเพื่อประเมินการใช้ระบบ IoT และ Visualization ของหน้างานในส่วนการผลิต โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะทางด้าน IoT แม้แต่น้อย ซึ่งแนวคิดการใช้ระบบ IoT ในการทำงานอย่างชาญฉลาดในภาคการผลิตญี่ปุ่นนั้น มีความคล้ายคลึงกับแนวคิดของโครงการ LIPE ทางโครงการจึงได้รวบรวมความรู้ด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ในญี่ปุ่น รวมถึง SMKL มาเพื่อส่งเสริมและต่อยอดการใช้ระบบ IoT ในภาคอุตสาหกรรมผลิตของประเทศไทย