ทำงาน เหนื่อยใจ ทำไงดี

16 พ.ค. 2564 | 05:01 น.

เหนื่อยกาย พักซักหน่อยก็หาย แต่เหนื่อยใจกับการทำงาน เหนื่อยกับลูกน้อง เหนื่อยกับเพื่อนร่วมงาน หรือเหนื่อยกับหัวหน้างาน ยากยิ่งจะรักษา แต่หากยังคิดทำงานต่อ ก็ต้องพยายามรักษาอาหารเหนื่อยใจให้หาย วันนี้ “อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป ได้สรุปวิธีการรักษาตัวเองให้หายเหนื่อยใจ แล้วเดินหน้าทำงานต่อไว้ให้ทดลองทำกันดู เริ่มกันเลย

ทำใจให้เข้าใจ – พูดง่าย ทำยาก แต่ต้องพยายาม – หมั่นคิดและเตือนตัวเองเสมอว่า เราคือคนก่อปัญหานี้ขึ้นมา เขาคงไม่รู้สึกอย่างนี้ ถ้าเราไม่พลาดท่าเสียทีอย่างที่ผ่านมา เป็นเราก็คงโกรธและไม่ไว้ใจ เป็นธรรมดา มันเป็นสัจธรรม

หาเวลานั่งสมาธิ – บางทีจิตใจฟุ้งซ่าน เพราะเราไปแต่งเติมเสริมสร้างมันขึ้นมาเอง การนั่งสมาธิจะช่วยดึงจิตให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น ใจจะได้สงบ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องปรุงแต่ง ทำวันนี้ให้ดีที่สุด แค่นี้พอ

แล้วมันจะผ่านไป – ในชีวิต ก็เคยเจอกับความผิดหวัง เสียใจ อึดอัดลำบากใจ มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แล้ววันหนึ่งมันก็ผ่านไป กลับมามีชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง เพราะฉะนั้น ครั้งนี้ก็เช่นกัน “แล้วมันจะผ่านไป” หมั่นคิดแบบนี้ไว้ สบายใจดี

ทำตัวให้ยุ่งไว้ – ว่างมาก ๆ ก็คิดโน่นคิดนี่ มโนไปเรื่อยเปื่อย ยิ่งคิดมาก ยิ่งติดกับดักวังวนความคิด คิดแล้วก็หมกมุ่นอยู่กับการมโนของตัวเอง ยิ่งคิดยิ่งเพี้ยน เอาเวลาไปทำงาน ออกกำลังกาย ช่วยเหลือสังคม ทำตัวให้เป็นประโยชน์ ฯลฯ ให้ยุ่ง ๆ ไว้ จะได้ไม่มีเวลาไปคิดฟุ้งซ่าน

เติมพลังให้ชีวิต ด้วยการทำสิ่งที่ชอบ – ปกติเมื่อได้ทำอะไรที่รัก ก็จะรู้สึกสนุกและมีพลัง (Energize) อย่างผมชอบสอนหนังสือ เวลาขึ้นเวทีรู้สึกมีพลัง ฮึกเหิม ลืมทุกข์ทุกอย่างได้ในพริบตา กลับลงมาก็ยังอิ่มเอมอยู่อีกหลายเพลา ทำให้ช่วยคลายความทุกข์ไปได้ อย่างน้อยก็สักระยะใหญ่ ๆ

หากำลังใจจากที่อื่น – บางทีถ้าอยู่กับคนนี้แล้วเครียด พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง คุยกันสิบนาทีเหนื่อยเหมือนทะเลาะกันสักชั่วโมง ยิ่งคุยยิ่งประสาทเสีย หมดกำลังใจ หากเบื่อมาก ๆ ลองแวะไปหากำลังใจจากคนอื่นบ้าง คนที่ชื่นชม ศรัทธา และคอยมองหาข้อดีมากบอกเรา ยังมีอีกมาก จะมาจมปลักอยู่กับคนคิดลบทำไม  ทำแบบนี้ไม่ใช่การหลงหรือหลอกตัวเองแบบหลับหูหลับตาหาแต่คำชม แต่เป็นการบริหารจัดการตัวเองให้มีพลัง เหมือนการหยอดน้ำมันเครื่องให้ชีวิต เพื่อเดินต่อไปแบบไม่ติดขัด

สอนคนอื่นเพื่อสอนตัวเอง – ปัญหาของคนอื่น มักเล็กกว่าปัญหาของเราเอง จริงไหม ? ถ้าไม่เชื่อ ลองสังเกตดู เวลาคนอื่นมีทุกข์ เราสอนเขาได้เป็นฉาก ๆ แต่พอเป็นทีของตัวเองบ้าง กลับทำไม่ได้อย่างที่สอนเขาไว้ การได้พูดได้สอนคนอื่น เป็นการทบทวนตัวเองวิธีหนึ่ง อย่างที่ผมเขียนบทความนี้ ก็เพื่อสอนตัวเองจริง ๆ เขียนไปก็เรียนรู้ไป ได้ทั้งงานได้ทั้งสติ

หาหนังยางมาล้างใจ – เมื่อนานมากแล้ว ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ หนังยางล้างใจ ของคุณบอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ ที่สอนให้หาหนังสติ๊กหนา ๆ สักเส้นหนึ่งมาใส่ข้อมือไว้ เมื่อใดก็ตามที่คิดลบ ให้ดึงแรง ๆ แล้วดีดตัวเอง เอาแบบเจ็บๆ จะได้หลาบจำ ไม่คิดลบอีก

การเดินทางย่อมต้องมีที่สิ้นสุด – เคยสังเกตนักวิ่งไหม ไม่ว่าระยะทางจะยาวไกลสักเพียงใด เมื่อเหลือบเห็นเส้นชัยอยู่รำไร ก็มีกำลังใจที่จะฮึดต่อเพราะเหลืออีกนิดเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถกำหนดจุดสิ้นสุดของความทรมานนี้ได้ เช่น กำหนดไว้เลยว่าโครงการนี้จะทำให้เสร็จเมื่อไรหรือเราจะทนทำงานกับหัวหน้าที่ไม่ชอบแบบนี้ ไปอีกนานเท่าไร เป็นต้น ขีดเส้นชัยของวันเวลาชัดเจน จากนี้ไป แต่ละวันจะเป็นวันที่สดใส เพราะเรากำลังเดินทางเข้าสู่เส้นชัย พลังฮึดย่อมมีมากขึ้น 

แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ – สุดท้ายขอนำหลักของพระพุทธเจ้ามาใช้ ท่านสอนว่าทุกข์อยู่ที่ไหน ก็ให้ดับที่นั่น ในกรณีนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่อีกฝ่ายพูดหรือทำอะไร แต่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะเราตีความคำพูดหรือการกระทำของเขาไปในเชิงลบเอง ถ้าไม่รับเข้ามาใส่ใจ ทุกข์ก็ไม่สามารถย่างกรายเข้ามาหาเราได้ ปล่อยให้มันผ่านไป ของเขาทิ้งไว้ ไม่ต้องไปเก็บมาใส่กระเป๋าให้หนักเปล่า ๆ

เหนื่อยกายก็พักกาย เหนื่อยใจก็ต้องพักใจ แต่ถ้าพักแล้วยังไม่หาย ค่อยมาคิดกันต่อว่าจะเอายังไงกับชีวิตดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง