10 อินไซด์ Cyberbullying ความบอบช้ำของเด็ก Gen Z

25 มิ.ย. 2564 | 11:53 น.

20.00 น. 25 มิ.ย. ดีแทคเปิดพื้นที่เสนอแนะ “ข้อปฏิบัติร่วมเพื่อหยุดไซเบอร์บูลลี่” ให้คน GEN Z ระดมสมอง ในแคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ก่อนที่เราจะเริ่มการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ดีแทคขอนำเสนอข้อมูลพื้นฐานที่น่าสนใจจากงานวิจัย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาเผย 10 อินไซท์ Cyberbullying กับความบอบช้ำและเสียงความต้องการของเด็ก Gen Z

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้เปิดพื้นที่สำหรับคน GEN Z ร่วมระดมสมอง-ออกแบบ “ข้อปฏิบัติร่วมเพื่อหยุดไซเบอร์บูลลี่” ผ่านแพลตฟอร์มที่ได้รับการออกแบบในรูปแบบ JAM Ideation ต่อเนื่องเป็นเวลา 72 ชั่วโมง ที่ https://www.safeinternetlab.com/brave เริ่มเปิดแจมตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน เวลา 20.00 น. ถึงวันที่ 28 มิถุนายน เวลา 20.00 น. ข้อเสนอแนะทั้งหลายจากเยาวชน จะเป็นแก่นตั้งต้นของการแลกเปลี่ยนมุมมองอย่างเข้มข้น ผ่านการพูดคุยในคอมมูนิตี้บนโซเชียลมีเดียระหว่างคนทุกเพศวัย ในระหว่างวันที่ 3 – 5 กรกฎาคม พร้อมนำข้อสรุปชงหน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่ห่วงใยในประเด็นไซเบอร์บูลลี่ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติในสังคม และกฎหมายเทียบเท่านานาชาติ ปักหมุดความก้าวหน้าเชิงนโยบายรับวันต่อต้านการกลั่นแกล้งออนไลน์สากล 2564 (Stop-Cyberbullying Day)

แคมเปญนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Business) ของดีแทค ภายใต้โครงการ dtac Safe Internet ซึ่งกรอบการดำเนินงานที่สำคัญประการหนึ่งคือ การร่วมเสนอทางออกในการแก้ปัญหาหรือลดความรุนแรงจากภัยออนไลน์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย (Policy drive) ภายใต้การดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 7 ล่าสุด ยังได้เปิด 10 อินไซท์ Cyberbullying กับความบอบช้ำและเสียงความต้องการของเด็ก Gen Z ของ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ดำเนินการวิจัย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยได้ร่วมทำงานกับดีแทค เพื่อออกแบบพื้นที่ปลอดภัยและเปิดกว้างสำหรับเยาวชนในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาไซเบอร์บูลลี่ ในแคมแปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา และเพื่อให้การออกแบบ “ข้อปฏิบัติร่วมเพื่อหยุดการไซเบอร์บูลลี่” ครอบคลุมประเด็นต่างๆ นำไปสู่การเป็นแก่นตั้งต้นของการแลกเปลี่ยน

การตระหนักถึงความสำคัญ และการจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นของกลุ่มเป้าหมายผ่านประสบการณ์จริง โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกด้วยรูปแบบคำถามไร้โครงสร้าง (Unstructured interview) เป็นคำถามปลายเปิด สร้างบรรยากาศให้เกิดการเปิดใจ ทำให้ 10 อินไซท์ ของคน GENZ  ได้แก่

10 อินไซด์ Cyberbullying ความบอบช้ำของเด็ก Gen Z

1. เด็ก Gen Z นิยาม Cyberbullying ว่าเป็น “พฤติกรรมการโพสต์ให้ร้ายผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย กระจายข่าวสารทางลบเพื่อให้เกิดความอับอาย ดูถูก กดให้ต่ำต้อย โดยที่ผู้กระทำอาจเจตนาหรือไม่เจตนาก็ได้” ซึ่งรวมไปถึงการแสดงความเห็น การกดไลค์ กดแชร์ และการแคปไปโพสต์ต่อ และด้วยความซับซ้อนของโลกออนไลน์ทำให้การปกปิดตัวตนกระทำได้ง่าย ส่งผลให้ “ระดับ” ความรุนแรงจึงเกิดขึ้นได้ “มากกว่าและง่ายกว่า”
 
2. เมื่อพูดถึง Cyberbullying พบว่า การโพสต์ดูถูกเหยียดหยาม (เรื่องภาพลักษณ์ เพศ ฐานะ เชื้อชาติ ศาสนา รสนิยม และความคิดเห็น เป็นเหตุการณ์ที่เด็ก Gen Z เผชิญมากที่สุดเป็นอันดับแรก ตามด้วย การโพสต์วิจารณ์รูปร่างผู้อื่น (Body shaming) นอกจากนี้ ยังพบว่า อิทธิพลของคนดังบนโลกออนไลน์ทำให้เกิดการเปรียบเทียบจนเกิดพฤติกรรมการกดตัวเองหรือบุคคลอื่นให้ต่ำต้อยลงเพื่อเอาชนะ ตัวอย่างเช่น มาตรฐานความงาม (Beauty standard)
 
3. เด็ก Gen Z มองว่าการวิจารณ์รูปร่างผู้อื่นหรือ Body shaming เช่น สีผิว รูปร่าง หน้าตา ถือเป็นการกระทำที่มีความรุนแรงมากที่สุด ตามด้วย การเหยียดเพศและรสนิยมทางเพศ การเหยียดปมด้อยต่างๆ เช่น ฐานะ การศึกษา ความคิดเห็น รสนิยม และความชอบส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังพบการข่มขู่คุกคามทางเพศ (Sexual harassment) ผ่านออนไลน์ การถูกกลั่นแกล้งจากบัญชีปลอม (Fake account) หรือภาษาวัยรุ่นเรียกกันว่า “แอคหลุม” และที่สำคัญ ยังพบปัญหา Cyberbullying จากสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย
10 อินไซด์ Cyberbullying ความบอบช้ำของเด็ก Gen Z  
4. Instagram เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เด็ก Gen Z นิยมใช้งานมากที่สุด โดยใช้เพื่อโพสต์รูปที่มีความเป็นส่วนตัว ส่วน Facebook ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 จุดประสงค์ของการใช้คือการโพสต์รูปทั่วไป โพสต์ข้อความ ติดตามข่าวสาร และแชร์ข้อมูลที่น่าสนใจจากเพจต่างๆ ขณะที่ Twitter / YouTube / TikTok ได้รับความนิยมรองลงมา ใช้เพื่อติดตามกระแสบนโลกออนไลน์ ติดตาม YouTuber ที่ชื่นชอบ และอัพโหลดคลิปต่างๆ
 
5. Cyberbullying เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย 1. ปัจจัยภายใน ได้แก่ ความสนุก การล้อเล่น ความต้องการมีตัวตนหรืออยู่เหนือผู้อื่น รวมถึงการมีทัศนคติ ความคิดเห็น และรสนิยมที่แตกต่างจากผู้อื่น และ 2. ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ค่านิยมของสังคมผิดๆ ที่ปฏิบัติและรับรู้กันมาช้านาน เช่น มาตรฐานความงาม นอกจากนี้ ยังรวมถึงอคติจากบุคคลอื่น เช่น อคติทางเพศ ขณะที่แพลตฟอร์มออนไลน์เอื้อให้เกิดการแกล้งกันได้ง่ายมากขึ้น
 
6. สาเหตุของการเกิด Cyberbullying สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม 1. กลุ่มผู้กระทำ (Actors) เกิดจากแรงจูงใจแบบปัจเจกบุคคล เช่น การไม่ชอบหน้าเป็นการส่วนตัว ความสนุก อยากแกล้ง 2. กลุ่มผู้ถูกกระทำ (Victims) มีสาเหตุมาจากการ “แปลกแยก” จากมาตรฐานของสังคม ถูกตัดสินใจจากโซเชียลมีเดียเพียงด้านเดียว การไม่เข้าพวก รสนิยมทางเพศที่แตกต่าง และ 3. บุคคลที่สาม (Bystanders) เข้ามาร่วมวงแห่งการกลั่นแกล้งเพียงเพราะการกระทำนั้นไม่ต้องรับผิดชอบ ต้องการช่วยเพื่อน
 
7. เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของการกลั่นแกล้ง พบว่าเหยื่อมีความมั่นใจน้อยลง รู้สึกหดหู่และมีความกังวลใจเป็นอย่างมาก เกิดความหวาดระแวง เว้นระยะห่างจากสังคม จนเป็นสาเหตุหนึ่งของการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทำร้ายตนเอง และมีความรู้สึกต้องการฆ่าตัวตาย

10 อินไซด์ Cyberbullying ความบอบช้ำของเด็ก Gen Z
 
8. เมื่อเหยื่อถูกกระทำ ส่วนใหญ่เลือกที่จะเพิกเฉย ไม่ตอบโต้ ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นกับประสบการณ์และวุฒิภาวะ ขณะที่การตอบโต้แบบซึ่งหน้าส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มที่อายุน้อย ประสบการณ์ไม่มาก
 
9. อย่างไรก็ตาม เมื่อประสบเหตุการณ์ขึ้น เหยื่อมักเลือกที่จะปรึกษาเพื่อนสนิทเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นเสมือน “พื้นที่ปลอดภัย” รู้สึกดีขึ้นเมื่อได้ระบายความรู้สึก รับฟังมากกว่าตัดสิน ขณะที่อันดับ 2 เป็นการจัดการกับความรู้สึกด้วยตัวเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้มักเป็น LGBTQ+ ส่วนอันดับที่ 3 คือการเลือกปรึกษาพ่อแม่ เพื่อต้องการกำลังใจ แต่ส่วนใหญ่มักถูกเพิกเฉย
 
10. เมื่อพิจารณาถึงการแก้ไขปัญหา เด็ก Gen Z มักเลือกที่การแก้ไขจากทัศนคติของตัวเองเป็นอันดับแรก โดยเน้นที่การสร้างค่านิยมใหม่ ปลูกฝังและส่งเสริมการให้เกียรติและเคารพความแตกต่าง คิดก่อนกระทำ ตลอดให้ส่งกำลังใจและเสริมแรงบวกให้ผู้อื่น อันดับ 2 คือการสร้างการรับรู้ให้สังคม สร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่เอื้อให้เกิดการกลั่นแกล้ง กำหนดแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับ Cyberbullying ที่นำไปใช้ได้จริง เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกระทำได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ขณะที่อันดับ 3 มองว่ารัฐควรออกมาตรการลงโทษผู้กระทำและการเยียวยาผู้ถูกกระทำผ่านกระบวนการทางกฎหมาย การใช้วินัยเชิงบวกในการปรับพฤติกรรม การมีพื้นที่ให้รับฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง