อินทัชเผยแผนธุรกิจในอนาคตทั้งระยะสั้น และ ระยะกลาง แจงให้ความสำคัญกับการลงทุนในกลุ่มโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยี เป็นหลัก ยังเน้นลงทุน ในสตาร์ตอัพ
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรืออินทัช ได้จัดงานประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 โดยมีนายเอนก พนาอภิชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอินทัช ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้เพื่อตอบคำถามให้กับนักลงทุนและผู้ถือหุ้นทั่วไป
เอนก พนาอภิชน
นอกเหนือคำถามในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นแล้ว อินทัช ยังได้สรุปคำถามให้กับบรรดานักลงทุนและผู้ถือหุ้นทั่วไปผ่านทาง เฟซบุ๊กของ “อินทัช” อีกด้วย
โดยสาระสำคัญที่นักลงทุนสนใจ คือ แผนธุรกิจของ อินทัช ที่จะลงทุนในอนาคต ทั้งระยะสั้นและระยะกลาง ทั้งนี้ได้คำชี้แจงจากฝ่ายบริหารว่า อินทัช มีสินทรัพย์ลงทุนในปัจจุบันประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และ ไฮ ช็อปปิ้ง
ในส่วนของการเติบโตนั้น อินทัช สร้างการเติบโตโดยมีทีมบริหาร ตัวแทนกรรมการ และหน่วยงานสนับสนุน โดยเน้นการเติบโตในสินทรัพย์ที่ลงทุน เช่น เอไอเอส เน้นการเติบโตจากรายได้อื่น นอกเหนือจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ขยายฐานลูกค้ากลุ่มองค์กร รวมถึงการลงทุนในธุรกิจดิจิทัล แรบบิท ไลน์ เพย์ และการควบรวม บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ ซีเอสแอล เข้ามาเพื่อเน้นการเติบโตอื่นนอกจากกลุ่มลูกค้าหลักที่ เอไอเอส ให้บริการอยู่
ขณะที่ ไทยคม นั้นแม้ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงและข้อจำกัดจากหน่วยงานกำกับ ดูแลที่เกี่ยวข้อง ไทยคมจะเพิ่มอัตราการใช้งานดาวเทียมอย่างไร การทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดาวเทียม เช่น อินเตอร์เน็ตบนเรือ การให้บริการในประเทศอื่น เช่น บังกลาเทศ ซึ่งเป็นการลงทุนในด้านความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ รวมทั้งการหาธุรกิจที่พึ่งพาการใช้ดาวเทียมน้อยลง ทำให้ไทยคมต้องศึกษาการลงทุนในธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ดาวเทียม นอก จากนี้ ธุรกิจในประเทศลาวยังมีการเติบโตดีอยู่
“บริษัทมีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่ามีผู้สนใจจะซื้อหุ้นไทยคมจากอินทัชจริงแต่ยังไม่มีรายใดที่ส่งหนังสือแสดงเจตจำนงที่มีผลภาระผูกพันทางกฎหมายเข้ามาถึงอินทัชจนถึงบัดนี้ ไทยคมมีสัญญาสัมปทานที่กำหนดให้อินทัชถือหุ้นไทยคมไม่น้อยกว่า 40% ซึ่งเป็นข้อกำหนดหลักที่จะทำให้การซื้อขายหุ้นเกิดหรือไม่เกิด ดังนั้น ผู้ซื้อรายใดสนใจเข้ามาซื้อและสามารถแก้ไขเงื่อนไขการถือหุ้นในสัญญาสัมปทานได้ บริษัทจะรับไว้พิจารณา ดังนั้น จึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะขายหรือไม่ เนื่องจากยังไม่เห็นข้อเสนอซื้ออย่างเป็นทางการจากผู้ที่สนใจ และอินทัชไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อผู้ที่สนใจได้”
ในส่วนด้านการลงทุนนั้น อินทัช ยังเน้นการลงทุนในสตาร์ต อัพ โดยจำนวนการลงทุนยังไม่เยอะ แต่ในด้านมูลค่ามีการเติบโตสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากอินทัชเลือกลงทุนในสตาร์ตอัพที่มี business model แล้ว โดยยังเน้นการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีบ้างที่ลงทุนในต่างประเทศ แต่จะลงทุนด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ การลงทุนในสตาร์ตอัพโอกาสความสำเร็จตํ่ากว่า 10% แต่ถ้าสำเร็จมูลค่าการลงทุนจะก้าวกระโดด ปัจจุบันมี 13 บริษัทภายใต้การบริหาร โดย 4 บริษัท มีผลประกอบการเป็นบวก บางบริษัทมีความพร้อมหรือมีการเตรียมการจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่นคือจุดมุ่งหมายและเป็นการเพิ่มมูลค่าการลงทุนในรูปแบบ corporate venture capital และอินทัชหวังว่าการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวจะสามารถให้บริการลูกค้าในกลุ่มอินทัชได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการเลือกลงทุน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าในกลุ่มอินทัช
ทางด้านธุรกิจใหม่ ยังเน้นลงทุนในกลุ่มโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยี แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปสำหรับการลงทุนใหม่ๆ แต่ยังคงอยู่ในช่วงการศึกษาลงทุน ดังนั้น ในระยะสั้นหรือกลาง อินทัชเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ที่มีอยู่ และ corporate venture capital รวมทั้งธุรกิจใหม่ที่สอดรับกับเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้ เอไอเอส ได้ทำการทดลองระบบ 5G กับทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อทดสอบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
โดย ทีมข่าวไอที
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3464 ระหว่างวันที่ 25 - 27 เมษายน 2562