การยกระดับการจัดอีเวนต์เพื่อสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยว จุดเริ่มต้นในอดีตเราจะเห็นการจัดงานในลักษณะแสงสีเสียง ประกอบการแสดงด้านวัฒนธรรม ในแบบ “มินิไลต์แอนด์ซาวด์” ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานทางประวัติศาสตร์หลายแห่งของไทย
จากนั้นพัฒนาการของมินิไลต์แอนด์ซาวด์ ก็ขยายผลไปจัดงานในจุดใหม่ๆหรือพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อใช้อีเวนต์เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ต้องการโปรโมต โดยเพิ่มเติมเรื่องของม่านนํ้า เทคโนโลยีแมปปิ้งเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการสร้างสีสันให้โชว์มีความแปลกใหม่น่าสนใจ
ต่อมาการประดับประดาดวงไฟให้เป็นรูปลักษณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอุโมงค์ไฟที่ฮอตฮิต ทำให้แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งจัดไลติ้ง โดยทำเป็น “เทศกาลประดับไฟ” หรือ “ไลต์ เฟสติวัล” อาทิ เทศกาลดอกไม้ประจำปี ณ ดาษดา จ.ปราจีนบุรี เทศกาลแสดงไฟ ณ สัทธา จ.ราชบุรี
จากปกติที่แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ จะเปิดให้บริการช่วงกลางวัน ก็ยังเพิ่มรอบการขายเป็นช่วงกลางคืนได้อีก
ทั้งนี้ก็เป็นไปตามพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการถ่ายภาพสวยๆ ของแสงไฟละลานตาในยามคํ่าคืนพร้อมๆ กับการแชร์ภาพออกไปในสังคมโซเชียลของตัวเอง
ที่ผ่านมาการจัดไลต์ เฟสติวัล ก็เป็นการจัดงานในสเกลเล็กๆ ภายในโซนใดโซนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ เป็นบางช่วงเท่านั้น แต่การจัดงานไลต์ เฟสติวัล ก็ถูกจุดพลุให้มีความยิ่งใหญ่ขึ้น เพื่อตอบโจทย์การพัฒนางานอีเวนต์ในยุคไทยแลนด์ 4.0 เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ทั้งคนไทยและต่างชาติ
โดยรูปแบบอีเวนต์ไม่ได้จำกัดแค่เพียงการสร้างจุดขายใหม่ให้กับแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆอีกต่อไป แต่เป็นการรังสรรค์อีเวนต์ เพื่อเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดการท่องเที่ยวเพื่อดึงคนจากนอกพื้นที่หรือระดับนานาชาติเข้าไปท่องเที่ยวในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งผลงานที่โดดเด่นและผ่านสายตากันมาบ้างแล้ว คือ โปรเจ็กต์ “วัดร่องขุ่น ไลท์ ไลท์ เฟส” เมื่อปลายปี 2562 ของบริษัทอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นการผสมผสานการจัดงานไลต์แอนด์ซาวด์ กับการจัดไลติ้ง ณ สถาปัตยกรรมพุทธศิลป์ของไทย หลายจุดแลนด์มาร์กในวัดร่องขุน ที่นักท่องเที่ยวจะเห็นมุมมองใหม่ของวัดร่องขุ่น ที่ถูกเปลี่ยนสี เปล่งแสง ควบคู่กับไลต์แอนด์ซาวด์ ตลอดการจัดงาน 1 เดือนมีผู้เข้าชมทั้งคนไทยและต่างประเทศกว่า 2.5 หมื่นคน
VILLAGE OF ILLUMINATION สิงห์ปาร์ค เชียงราย
ความอลังการไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะล่าสุด อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ได้สร้างโปรเจ็กต์ยักษ์ใหม่ กับ “VILLAGE OF ILLUMINATION” งานไลต์เฟสติวัลครั้งแรกในไทยและยังเคลมว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย บนพื้นที่ 100 ไร่ ท่ามกลางบรรยากาศฤดูหนาว ณ “สิงห์ปาร์ค เชียงราย” วันที่ 4 ธันวาคม 2563-31 มกราคม 2564 ภายใต้คอนเซ็ปต์ Episode1 : Falling From The Sky ที่ร้อยเรียงเป็นธีมของอีเวนต์
ปรากฏการณ์จากฟากฟ้าที่ได้นำศาสตร์แห่งความลํ้าสมัย 4 ด้าน คือ ดิจิทัล อาร์ต มิวสิก และเทคโนโลยี รวมกันเป็นหนึ่งในงานไลต์ เฟสติวัล ภายใต้การจัดแสดงใน 10 โซน อาทิ ป่าพิศวงที่ไม่เคยหลับไหลยามคํ่าคืนหรือ THE FOREST LIGHT, ปรากฏการณ์วัตถุปริศนาขนาดใหญ่จากฟากฟ้า, ดิจิทัล อาร์ต วิลเลจ นิยามใหม่ของประสบการณ์ IMMERSIVE ที่ มากกว่าแค่ 360 องศา, มนุษย์ต่างดาวตัวใหญ่เท่าตึก 8 ชั้น เป็นต้น การจัดอีเวนต์นี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าชมงานกว่า 3 แสนคน สร้างรายได้กว่า 600 ล้านบาท
คิงดอมออฟไลต์ โครงการ“คาร์นิวัลเมจิก”
นอกจากนี้การจัดไลติ้งนับจากนี้จะไม่ใช่แค่เฟสติวัลเท่านั้น เพราะในขณะนี้การประดับไฟได้ถูกหยิบมาสร้างเป็นจุดขายการท่องเที่ยวในลักษณะถาวร ซึ่งจะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ด้านการท่องที่ยวของภูเก็ต ที่ถูกจัดอยู่ในโซน “คิงดอมออฟไลต์” อันเป็นอีกหนึ่งโซนภายในโครงการ “คาร์นิวัลเมจิก” ที่เป็นการลงทุนใหม่ของภูเก็ตแฟนตาซีกว่า 5 พันล้านบาท บนพื้นที่ใหม่ คาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในปีนี้
คิงดอมออฟไลต์ เป็นเมืองที่มีไฟประดับประดาสวยงามมากกว่า 40 ล้านดวง ไฮไลต์ของโซนนี้ คือ “River of Lights” ที่มีการนำดวงไฟหลายล้านดวงมาประดับบนโครงเหล็กดัดลวดลายสวยงาม (Luminarie) ที่มีความยาวรวมถึง 50 กิโลเมตร เป็นรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ล้อมรอบทะเลสาบ ชมความอลังการของดวงไฟหลายสิบล้านดวงแบบพาโนรามารอบทิศทาง
ทั้งหมดเป็นพัฒนาการของการจัดอีเวนต์ ที่นำไลต์แอนด์ซาวด์ มาผสนผสานกับเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย เพื่อสร้างนวัตกรรมของการสร้างอีเวนต์ในรูปแบบใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น
รายงาน : ธนวรรณ วินัยเสถียร
หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,551 วันที่ 23 - 26 กุมภาพันธ์ 2563