สจล. เปิดตัว “เอไอตรวจคุณภาพหน้ากากอนามัย” ประเมินประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อไวรัส ลดความเสี่ยงจากการใช้แรงงานคนควบคุมมาตรฐานความสะอาดในการผลิต
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ท่ามกลางภาวะหน้ากากอนามัยขาดตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ที่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ สจล. จึงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตรวจสอบคุณภาพการผลิตหน้ากากอนามัย ซึ่งมีส่วนช่วยในกระบวนการผลิตหน้ากากอนามัยให้ทันต่อความต้องการการใช้ในสถานพยาบาล รวมถึงประชาชนทั่วไป
ด้าน รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ในกระบวนการผลิตหน้ากากอนามัย มีระบบการตรวจสอบการผลิต 2 ส่วน ได้แก่ 1) ตรวจสอบมาตรฐานกระบวนการผลิต 2) ตรวจสอบคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการผลิต โดยผลงานนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) และจอแสดงผลตรวจสอบคุณภาพการผลิตหน้ากากอนามัย ของวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. สามารถเข้ามาช่วยตรวจสอบการผลิตได้ในทั้ง 2 ส่วน ในส่วนของมาตรฐานกระบวนการผลิต นวัตกรรมสามารถตรวจสอบคุณภาพทางกายภาพ ทั้งความสมบูรณ์ของหน้ากาก และขนาดที่ได้ตามมาตรฐาน ในขณะที่การตรวจสอบคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการผลิต
ทั้งนี้นวัตกรรมจะตรวจสอบส่วนประกอบของการผลิตหน้ากากอนามัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้โดย
- สายคล้องหู: ต้องใช้วัสดุที่มีความแข็งแรง ไม่ขาดหลุดง่าย และมีการเย็บติดเข้ากับตัวหน้ากากอย่างแน่นหนา
- โครงลวด: ต้องใช้โครงลวดที่มีขนาดตามมาตรฐาน และมีการปะยึดลวดไม่ให้หลุดระหว่างการใช้งาน
- ตัวล็อคโครงลวด: ตัวล็อคโครงลวดมีความสำคัญในการช่วยยึดลวดให้ไม่เลื่อนหลุดจากตัวหน้ากาก ซึ่งอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของหน้ากาก ทำให้ผู้ใช้ได้รับอันตราย รวมถึงเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรค
- ตัวแผ่นหน้ากาก: จะต้องมีความหนาแน่นของเส้นใยที่ได้มาตรฐาน โดยแผ่นหน้ากากชั้นนอกและชั้นในใช้เส้นใยชนิดเดียวกัน มีรูพรุนขนาด 3 ไมครอน ในขณะที่ชั้นกลาง (active) ซึ่งเป็นชั้นที่ใช้ป้องกันไวรัส จะต้องมีรูพรุนสูงประมาณ 1 ไมครอนหรือต่ำกว่า และมีความหนาแน่นของเส้นใยสูง เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัส เมื่อประกอบกันทั้ง 3 ชั้น ด้วยกระบวนการยึดติดที่ได้มาตรฐาน จึงจะเป็นหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้