แดสสอลท์ แนะเร่งพัฒนาทักษะดิจิทัล หลังพ้นวิกฤติโควิด

27 เม.ย. 2563 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2563 | 12:45 น.

แดสสอลท์ แนะเร่งพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้พนักงานหลังพ้นวิกฤติ ชู Medidata หนุนอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์รับมือโควิด-19

นายแซมซัน เคา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ จำกัด เปิดเผยว่า  หลังจากสถานการณ์โควิดผ่านพ้นไปภาคอุตสาหกรรมจะต้องมองภาพใหญ่และทำงานคู่ขนานไปกับการสนับสนุนของภาครัฐในการพัฒนาทักษะของพนักงานในด้านดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อที่จะให้ทันต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมจะต้องมองเรื่องกระบวนการของซัพพลายเชนและโลจิสติกส์อีโคซิสเต็มของดีมานด์ซัพพลายต่างๆ ในการผลิต อุตสาหกรรมจะเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการการผลิตและซัพพลายเชน ภาพใหญ่คือองค์กรต้องคำนึงถึงการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการทำงาน

 

แดสสอลท์ แนะเร่งพัฒนาทักษะดิจิทัล หลังพ้นวิกฤติโควิด

 

สำหรับโซลูชันที่จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ในประเทศไทยของ  แดสสอลท์ จะทำงานบนแพลตฟอร์ม Medidata ช่วยให้นักวิจัยและธุรกิจสตาร์ตอัพสามารถทำการวิเคราะห์และแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน โดยใช้นวัตกรรมในการค้นคว้าด้านเฮลธ์แคร์ ซึ่งนักวิจัยจะจำลองรูปแบบต่างๆ เพื่อหาโซลูชัน และในสถานการณ์โควิด-19 นี้ Medidata ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการคิดค้นการรักษาเพราะขณะนี้เครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ ทั่วโลกกำลังขาดแคลนและไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย สิ่งที่ตามมาคือทำให้ราคาสูงขึ้น

 

นอกจากนี้แดสสอลท์ ยังมีแพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE on Cloud ที่ช่วยให้พนักงานสามารถทำงานผ่านการเชื่อมต่อระยะไกลเข้าถึงข้อมูลภายในองค์กรได้อย่างปลอดภัย และการปิดสถานที่ทำงานชั่วคราว ผู้ใช้จำนวนมากจำเป็นที่จะต้องทำงานแบบรีโมท ซอฟต์แวร์ของแดสสอลท์ ซิสเต็มส์เข้ามาช่วยในการทำแบบจำลองของกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นนํ้ายันปลายนํ้าทำให้เกิด Social Distancing พนักงานไม่ต้องกระจุกอยู่ที่สายพานการผลิตหรือนั่งประชุมในห้องเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 นี้อุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบในเชิงบวก คืออุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งยังเห็นปริมาณความต้องการของชิ้นส่วนรถยนต์จากทางฝั่งตะวันตกอยู่มาก ขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ก็ยังมีปัญหาในการผลิตจึงมองว่าประเทศไทยน่าจะได้รับประโยชน์ในการที่จะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ และอีกหนึ่งอุตสาหกรรมคือการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ปริมาณในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมีจำนวนมาก ซึ่งต้องมีความพร้อมในการผลิต แต่ในเวลาเดียวกันก็จะต้องสร้างสมดุลให้กับพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในเรื่องของความปลอดภัย เพราะสถานการณ์โควิดจะอยู่นานเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ สิ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องคำนึงถึงคือความปลอดภัยด้านสุขภาพของพนักงาน

 

หน้า 26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26-29 เมษายน 2563