การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ที่กระจายไปทั่วโลก ทำให้แต่ละประเทศต้องออกมาตการคุ้มเข้มล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม ลดการแพร่เชื้อ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงักลงเช่นเดียวกัน กระทบต่อรายได้ทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ ซึ่งหากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ก็คงจะยังประคับประคองกันไปได้ ที่น่าเป็นห่วงเห็นจะเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี ) เพราะแม้ว่า ทางการจะออกมาตรการช่วยเหลือเสริมสภาพคล่องด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟต์โลน) แต่ก็ยังมีต้นทุนที่สูง และยากจะเข้าถึงเหมือนเดิม
สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี หรือ สตาร์ตอัพ ที่มองหาช่องทางระดมทุน เพื่อให้ผ่านพ้นยามยากนี้ไปได้ การระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ควรจะนำมาพิจารณา เพราะการระดมทุนผ่านผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงเป็นการระดมทุนจากประชาชนหมู่มาก (the crowd) ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง (funding portal) โดยอาศัยเทคโนโลยีของระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้ลงทุนแต่ละรายจะลงทุนในจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่จะอาศัยพลังของจำนวนผู้ลงทุนที่มากพอจนสามารถตอบสนองความต้องการในการใช้เงินของธุรกิจได้
Crowdfunding มี 4 รูปแบบคือ
1. Donation เป็นการระดมเงินทุนในรูปแบบการขอบริจาคขององค์กรที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ไม่แสวงหากำไรหรือผลประโยชน์ตอบแทน
2. Reward เป็นการระดมทุนเพื่อให้สิทธิประโยชน์บางอย่าง เป็นการแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ
3. Lending เป็นการกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคล ผ่านออนไลน์ โดยได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน
4. Equity เป็นการขอกู้เงินจากคนทั่วไปจำนวนมาก โดยจะให้หุ้นหรือหุ้นกู้ เป็นการตอบแทน แต่เนื่องจาก การระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิงที่ให้หุ้นหรือหุ้นกู้เป็นสิ่งตอบแทน ถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
สำหรับบริษัทที่สนใจระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง ต้องนำโครงการหรือแผนการดำเนินธุรกิจ (business plan) ไปเสนอต่อ funding portal โดย funding portal มีหน้าที่คัดกรองบริษัทและเปิดเผยข้อมูลบริษัทและหลักทรัพย์ที่จะเสนอขายบนเว็บไซต์ของ funding portal เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน ซึ่งสำคัญแผนนั้นต้องน่าเชื่อถือและมีความเป็นไปได้ของโครงการ
ในช่วงระหว่างการระดมทุน ผู้ลงทุนจะจ่ายเงินค่าจองซื้อ ซึ่งจะเก็บไว้ที่บุคคลที่ 3 ที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น escrow agent และหากผู้ลงทุนต้องการจะยกเลิกการจองซื้อในช่วงที่ยังไม่ปิดการเสนอขาย สามารถทำได้ ภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งผู้ลงทุนสามารถสอบถามข้อมูลบริษัทเพิ่มเติมบนกระดาน หรือ webboard ซึ่งเป็นที่แลกเปลี่ยนความคิดในกลุ่มผู้ลงทุนด้วยกันเอง จนอาจนำไปสู่กลไกการตรวจสอบบริษัทที่มีประสิทธิภาพที่เกิดจากพลังของมวลชนหมู่มาก (power of crowd) ได้
เมื่อสิ้นสุดการเสนอขาย หากบริษัทสามารถระดมเงินทุนได้ตามเป้าหมาย บริษัทจะได้รับเงินทุนไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ และผู้ลงทุนก็จะได้หุ้นหรือหุ้นกู้ของบริษัทไปตามสัดส่วนเงินที่ลงทุน
สำหรับผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.ขณะนี้มีเพียงบริษัท เพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จำกัด และอีก 2 บริษัทให้บริการเฉพาะเสนอขายหุ้นคราวด์ฟันดิงคือ บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด และบริษัท ฟีนิกซิคท์ จำกัด
นายวรพล พรวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จำกัด กล่าวว่า นักลงทุนที่เข้ามาลงในหุ้นกู้ผ่านแพลตฟอร์มบริษัท เพราะมีดอกเบี้ยจูงใจ ขณะที่บริษัทที่เข้ามาระดมทุนจะได้รับเงินเร็วขึ้น โดยเร็วสุดประมาณ 10 วัน หรือช้าที่สุดเกือบ 60 วัน และมูลค่าระดมทุนส่วนใหญ่จะประมาณ 15-20 ล้าน แต่ระบบรองรับได้ถึง 200 ล้านบาท
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,572 วันที่ 7-9 พฤษภาคม พ.ศ. 2563