ETDA เผย 73.3% องค์กรไทยเตรียมพร้อมปรับใช้เทคโนโลยี AI

27 พ.ย. 2567 | 00:23 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2567 | 00:45 น.

ETDA เผยผลสำรวจความพร้อม AI ปี 67 องค์กรไทยกว่า 73.3% เตรียมใช้ AI โดยกลุ่มการเงิน-โลจิสติกส์-การศึกษานำร่อง พร้อมเผยเทรนด์การใช้ Generative AI ในองค์กร ด้าน IMD ชี้เพิ่มทั้งโอกาสและความเหลื่อมล้ำ

ความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะในประเด็นด้านการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี AI ของไทยมีตัวเลขการเติบโตของการประยุกต์ใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จาก “ผลการสำรวจความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) สำหรับบริการดิจิทัล ปี 2567 หรือ AI Readiness Measurement 2024” ฉบับล่าสุด ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ชี้ชัดว่าองค์กรที่ประยุกต์ใช้ AI แล้ว เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 17.8% (ปี 66 อยู่ที่ 15.2%) , มีแผนที่จะใช้งาน AI ในอนาคต สูงถึง 73.3% (ปี 66 อยู่ที่ 56.6%) และยังไม่ต้องการใช้ AI และต้องการการสนับสนุน 8.9% (ปี 66 อยู่ที่ 28.2%)

ผลการสำรวจยังพบว่า องค์กรที่มีการนำ AI มาใช้งานแล้ว มีความพร้อมเฉลี่ยอยู่ที่ 55.1% หรืออยู่ในระดับ “Aware” ซึ่งหมายถึง องค์กรมีความตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี AI และเริ่มนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กร

เมื่อพิจารณาแยกลงไปในแต่ละด้าน (Pillar) พบว่า ด้านที่มีความเข้มแข็งมากที่สุด คือ ด้านข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน (ประกอบด้วย รูปแบบและคุณภาพของข้อมูล และ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จำเป็นต่อการใช้งาน AI) โดยมีคะแนนเฉลี่ยความพร้อมในด้านนี้อยู่ที่ 65.5% ซึ่งจัดอยู่ในระดับ “Aware” โดยกลุ่มที่มีความพร้อมอยู่ในระดับต้นๆ ได้แก่ กลุ่มการเงินและการค้า กลุ่มโลจิสติกส์และการขนส่ง และ กลุ่มการศึกษา

ทั้งนี้ การที่หน่วยงานมีความพร้อมโดยเฉพาะในด้านข้อมูลสูง สาเหตุหนึ่งมาจากในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความตื่นตัวในเรื่องของ Big Data และเห็นความสำคัญของการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในมุมมองต่างๆ ตามที่องค์กรให้ความสนใจ สำหรับด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยในระดับรองลงมาได้แก่ ด้านบุคลากร ด้านยุทธศาสตร์และความสามารถขององค์กร ด้านธรรมาภิบาล และด้านเทคโนโลยี ตามลำดับ

สำหรับองค์กรที่ปัจจุบันยังไม่มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กร ได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาข้อมูล เนื่องจากยังไม่ทราบว่าจะนำ AI มาประยุกต์ใช้อย่างไร (2) รอนโยบายจากผู้บริหารที่จะเห็นความจำเป็นในการนำ AI มาใช้ และ (3) องค์กรยังขาดความพร้อมและต้องการการสนับสนุนในด้านงบประมาณ รวมถึงยังต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุนต่างๆ เพื่อให้สามารถนำ AI มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ETDA เผย 73.3% องค์กรไทยเตรียมพร้อมปรับใช้เทคโนโลยี AI

ประเด็นและแนวโน้ม ที่น่าสนใจจากการศึกษาในปี 2567 นี้ได้แก่ ด้าน Generative AI พบว่า องค์กรมีใช้ Generative AI ไปเพื่อสนับสนุนการทำงานในด้านหลายด้าน โดยงาน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ด้านการพัฒนาสินค้าหรือบริการ/การวิจัยและพัฒนา (2) ด้านการตลาด การขายและบริการลูกค้า และ (3) ด้านกระบวนการผลิต

ในขณะที่อุปสรรคสำคัญในการใช้งาน Generative AI คือ (1) องค์กรขาดบุคลากรที่มีทักษะ (2) องค์กรมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของข้อมูลที่นำมาใช้งาน และ (3) องค์กรยังขาดเงินทุนสำหรับการจัดซื้อและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถใช้งานได้

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยังไม่พบว่าองค์กรใดเลยที่มีนโยบายที่จะเลิกการจ้างคนทั้งหมด แม้ว่างานในส่วนนั้นจะสามารถนำ Generative AI มาใช้แทนได้ก็ตาม

โดยเป้าหมายขององค์กรที่มีการประยุกต์ใช้ AI แล้ว ส่วนใหญ่กว่า 69.6% ใช้เพื่อบริหารจัดการภายในองค์กร รองลงมา 59.8% ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือบริการขององค์กร และ 56.8% ใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการขององค์กร

ส่วน Top 3 ประเด็นขององค์กรที่มีแผนที่จะใช้งาน ส่วนใหญ่กว่า 69.6% อยู่ระหว่างกำลังศึกษาข้อมูล AI ส่วนอีก 59.8% ระบุรอนโยบายจากผู้บริหาร และอีก 56.8% พิจารณาด้านงบประมาณและความคุ้มค่า

AI Readiness Measurement ไม่เพียงสะท้อนภาพความพร้อมด้านการประยุกต์ใช้ AI ของไทย แต่ยังเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับทุกภาคส่วน ที่ช่วยกำหนดทิศทางนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ นำประเทศก้าวสู่เป้าหมายใหญ่ ทั้งการเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP และการขยับ Ranking การแข่งขันทางดิจิทัลในเวทีโลกได้เร็วขึ้นด้วย

IMD ชี้เพิ่มทั้งโอกาสและความเหลื่อมล้ำ

ขณะที่ สถาบัน IMD สวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยรายงาน IMD World Talent Ranking 2024 ระบุว่าการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในที่ทำงานกำลังปฏิวัติโลกการทำงาน สร้างทั้งโอกาสและความท้าทายใหม่ให้กับตลาดแรงงานทั่วโลก

ผลสำรวจผู้บริหารทั่วโลกพบว่า 58% เห็นว่า AI ถูกใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานที่ทำโดยมนุษย์ ขณะที่ 23% ระบุว่า AI ยังไม่ได้ถูกบูรณาการเข้ากับกระบวนการทำงานอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม 12% ชี้ว่า AI กำลังแทนที่งานเดิมและทำให้มีการลดขนาดกำลังแรงงาน และ 7% เห็นว่า AI ส่งผลให้พนักงานเลือกลาออกอย่างเงียบๆ หรือเกษียณก่อนกำหนด

ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ชี้ให้เห็นความแตกต่างของผลกระทบระหว่างประเทศที่มีระดับรายได้ต่างกัน โดยพบว่าเพียง 0.4% ของงานในประเทศรายได้ต่ำที่มีความเสี่ยงต่อการถูกแทนที่ด้วย AI ในขณะที่ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5.5% ในประเทศรายได้สูง

นอกจากนี้ รายงานยังพบว่าการนำ AI มาใช้ในกระบวนการจ้างงานอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติรูปแบบใหม่ โดยข้อมูลจาก World Justice Project แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศที่มีการใช้ AI อย่างกว้างขวาง เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และไทย กำลังประสบกับระดับการเลือกปฏิบัติที่เพิ่มขึ้น

ที่น่าสนใจคือ ประเทศที่มีดัชนีการไม่เลือกปฏิบัติสูงมีแนวโน้มดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถได้ดีกว่า เช่น สิงคโปร์ที่มีดัชนีการไม่เลือกปฏิบัติ 0.81 จาก 1 มีคะแนนการดึงดูดและรักษาบุคลากรสูงถึง 8.56 จาก 10 ขณะที่ประเทศไทยซึ่งมีดัชนีต่ำกว่า ได้คะแนนเพียง 53 จาก 100

รายงานยังชี้ว่าคุณภาพชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดบุคลากรทักษะสูง โดยประเทศอย่างนอร์เวย์ที่มีดัชนีการไม่เลือกปฏิบัติสูง (0.83) และคะแนนคุณภาพชีวิตสูง (8.61) ประสบความสำเร็จในการดึงดูดบุคลากรมากกว่าประเทศที่มีดัชนีต่ำกว่า เช่น สหรัฐฯ (0.48) และฮังการี (0.40) ที่มีคะแนนคุณภาพชีวิตเพียง 7.13 และ 4.23 ตามลำดับ