มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับ เครือข่ายภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัทโสมาภา อินฟอเมชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), การบินลาว และบริษัท พิโซน่า กรุ๊ป จำกัด พัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นำโดย ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล, ดร.จิดาภา เซคเคย์, ดร.ปิยะวุฒิ แสวงผล, ดร.ธีรภัทร นวลน้อย, ดร.ท่าท่าณัฏฐาภรณ์ ณ นคร และ ดร.ปวีณา วงศ์วิทย์วิโชติ จากคณะเทคนิคการแพทย์ และคณะเภสัชศาสตร์ โดยชุดตรวจนี้ใช้สำหรับตรวจคัดกรองผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาตรวจประมาณ 15 นาที
การวินิจฉัยการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่ถือเป็นวิธีมาตรฐาน คือ การตรวจหาสารพันธุกรรม (RNA) ของไวรัส โดยตรวจจากสิ่งส่งตรวจที่เป็นสารคัดหลั่งบริเวณทางเดินหายใจ ซึ่งต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญในการปฏิบัติงานและแปลผลการตรวจ การตรวจใช้เวลานานประมาณ 2-3 ชั่วโมง เครื่องมือมีราคาสูง ไม่เหมาะกับงานภาคสนาม อีกทั้งบุคลากรที่ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างจะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัส
ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัย มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เราเฟ้นหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทั้งนักเทคนิคการแพทย์ และเภสัชกร การพัฒนาชุดตรวจ PSU COVID-19 ครั้งนี้ สามารถช่วยคัดกรองเบื้องต้น ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อ ซึ่งสามารถระบุเบื้องต้นได้ว่า ผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของการติดเชื้อ หากเคยได้รับเชื้อและหายแล้วก็ยังตรวจได้ ขอขอบคุณในความมุ่งมั่น ความอดทน ความเสียสละ ของผู้วิจัยทุกท่าน และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เป็นกำลังยิ่งใหญ่ในการดูแลสังคม ให้หายจากโรคระบาดโควิด-19 เพื่อให้เราผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล คณะเทคนิคการแพทย์ หัวหน้าโครงการชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 กล่าวว่า โครงการพัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชุดตรวจนี้ ใช้สำหรับตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว โดยการตรวจหา immunoglobulin ทั้งชนิด IgM และ IgG ที่จำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อ COVID-19 เป็นประโยชน์ต่อทั้งการตรวจการติดเชื้อในเบื้องต้นและตรวจติดตามการพัฒนาภูมิคุ้มกันของร่างกาย ชุดตรวจนี้ใช้หลักการ immunochromatography (อิมมูโนโชมาโตกราฟฟี) (ICT) เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจ ใช้เวลาในการตรวจเพียง 15 นาที ชุดตรวจมีความไวและความจำเพาะสูง มีความคงตัวสูง สามารถเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายเดือน อีกทั้งตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจมีปริมาตรน้อย ประมาณ 15-20 ไมโครลิตร (1-2 หยด) ใช้ได้กับตัวอย่างเลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว พลาสมาหรือซีรัม ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้มีปริมาณของเชื้อไวรัสที่น้อยมาก ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรจากผู้ป่วย
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มช่วยกันและหนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการ กล่าวว่า ทางบริษัทมีความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทย โดยได้ชักชวนพันธมิตรเพื่อมาร่วมมือกันในชื่อ “กลุ่มช่วยกัน” ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมพลังสมอง เทคโนโลยี เงินทุน รวมถึงกำลังคน เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยไม่หวังผลประโยชน์ใด ขณะเดียวกันทางบริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เป็นผู้ร่วมสนับสนุนโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้น จนสามารถผลิตชุดตรวจ PSU COVID-19 ที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากลสำเร็จได้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจยืนยันโรคได้มากขึ้น ด้วยต้นทุนการตรวจที่ต่ำลง แต่รวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ
ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย หนึ่งในองค์กรภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุน โครงการวิจัยและพัฒนา ชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กล่าวว่า ทิพยประกันภัย ได้เห็นถึงประโยชน์ของเครื่องมือนี้ที่จะสามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้นของผู้มีความเสี่ยงหรือมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ หากสามารถตรวจพบได้เร็ว โอกาสในการได้รับการรักษาก็จะเร็วขึ้น การแพร่ระบาดของเชื้อก็จะน้อยลง จำนวนผู้ติดเชื้อก็จะลดลง ซึ่งก็เป็นผลดีในขณะที่ทั่วโลกกำลังพยายามคิดค้นวัคซีนเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 อยู่ เราก็ควรช่วยกันควบคุมลดจำนวนของผู้ที่จะติดเชื้อใหม่และช่วยหยุดการแพร่ระบาดในวงกว้าง เพราะไวรัสโควิด-19 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ยังได้ได้ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต รวมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของคนทั้งโลกอีกด้วย