ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด (9 มิ.ย. 63) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากรฯ จัดเก็บภาษี “อี-เซอร์วิส” หรือ เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก แพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ ที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอเข้ามา ซึ่ง พรบ.ดังกล่าวนั้นมีนัยยะสำคัญมากกว่ารายได้จากที่กระทรวงการคลังคาดว่าจะได้รับเพิ่ม 3,000 ล้านบาท แต่จะทำให้ภาครัฐสามารถรับรู้ข้อมูลเม็ดเงินของไทยที่ไหลออกไปสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้วางแผน หรือ ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ
โดยนายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วยกับการเรียกเก็บภาษี “อี-เซอร์วิส” หรือ เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่ไม่มีบริษัทลูกในไทย เนื่องจากรัฐบาลไม่รู้เม็ดเงินที่คนไทยจ่ายให้ผู้ให้บริการเหล่านี้ การที่มีกฎหมายดังกล่าวเหล่านี้ออกมาจะบังคับให้ผู้บริการเหล่านี้ต้องรายงานตัวเลขการจัดเก็บภาษี VAT จากธุรกิจ หรือ ผู้บริโภคในไทย ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้รายได้ที่ชัดเจน หรือ เงินที่ไหลออกไปสู่ผู้ให้บริการเหล่านี้ที่ปีหนึ่งมีมูลค่ามหาศาล
ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุกรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่าพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากรฯ จัดเก็บภาษี “อี-เซอร์วิส” หรือ เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ จะทำให้รัฐบาล มีข้อมูลตัวเลขการขาดดุลทางดิจิทัลของประเทศให้กับผู้ให้บริการต่างประเทศ และมีข้อมูลการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาอี-เซอร์วิส เพื่อลดการพึ่งพาบริการอี-เซอร์วิสจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอี-เซอร์วิส น่าจะเป็นผู้ใช้บริการภาคธุรกิจ หรือ ทั้งผู้บริโภค
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพากรกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิสเป็นการทำตามแนวทางของโออีซีดี ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีรายได้จากการให้บริการมายื่นชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร ซึ่งสิ่งที่กรมสรรพากรจะทำคือ ทำอย่างไรให้กระบวนการยื่นจดทะเบียนและชำระภาษีสะดวกและง่าย ซึ่งขณะนี้มี 60 ประเทศทั่วโลกเริ่มจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิสแล้ว ทำให้บริษัทใหญ่ๆยินยอมที่จะทำตามแนวทางของโออีซีดี เพียงแต่ให้ออกมาเป็นกฎหมายเท่านั้น
“สิ่งสำคัญคือ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องเสียภาษี ขณะที่ต่างประเทศที่รายได้จากการให้บริการในไทยกลับไม่ได้เสียภาษี ดังนั้นต่อไปแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีรายได้จากการให้บริหารเกินปีละ 1.8 ล้านบาท มีหน้าที่มายื่นจดภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษี”
แหล่งข่าวจากวงการดิจิทัลรายหนึ่ง กล่าวว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษี “อี-เซอร์วิส” หรือ เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% คือ เฟชบุ๊ก กูเกิล ที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทในไทย โดยหากพรบ.ดังกล่าวผ่านสภา และมีผลบังคับใช้ บริษัทเหล่านี้ต้องรายงานตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งน่าจะทำให้รัฐบาลรู้ตัวเลขที่ชัดเจนรายได้ที่ไทยสูญเสียให้กับผู้ให้บริการเหล่านี้ โดยเฉพาะเม็ดเงินจากโฆษณาออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้ที่มีมูลค่ามากกว่าหมื่นล้านบาท หรือ 80-90% ของมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์
ทั้งนี้รายงานตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลของไทย โดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ระบุว่าคาดการณ์ว่าในปี 2020 จะมีการใช้จ่ายเม็ดเงินด้านโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล จะมีมูลค่าสูงถึง 22,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 13%
จากข้อมูลพบว่า แพลตฟอร์มระดับโลกอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) และยูทูป (YouTube) ยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลักที่แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563