นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ในปี 2563 ดีแทคมองถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ในการเพิ่มศักยภาพให้กับคนไทยโดยให้ความสำคัญกับประชากรในพื้นที่ห่างไกลที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร 69 ล้านคน ประกอบอาชีพด้านการเกษตรกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 35% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ดีแทคได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสนับสนุนและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเกษตรกร รวมทั้งการร่วมมือกับ ยารา ประเทศไทย ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม Kaset Go (เกษตร โก)
ด้านนายเมดิ เซนท์-อังเดร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยารา (ประเทศไทย) จำกัด และรองประธานกลุ่มธุรกิจประเทศไทย และประเทศเมียร์มา ผู้นำผลิตภัณฑ์ธาตุอาหารพืชของโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า ยารา ได้เร่งดำเนินกลยุทธ์ดิจิทัลฟาร์มมิ่ง (Digital Farming) เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำการเกษตรที่แม่นยำแก่เกษตรกรทั่วโลก แพลตฟอร์ม Kaset Go จะเชื่อมโยงเกษตรกรกับข้อมูลที่เชื่อถือได้ซึ่งตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญและชุมชนการเกษตร โดยคาดว่า Kaset Go จะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับเกษตรกรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย
ทั้งนี้ Kaset Go พบว่าปัญหาหลักที่เกษตรกรต้องเผชิญ คือ 1. ห่างไกลผู้เชี่ยวชาญ เกษตรกรต้องมีการตัดสินใจมากกว่า 300 ครั้งต่อปี แต่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา 2. ขาดความรู้ เนื่องจากข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตไม่มีการรับรองว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง 3. ประเทศไทยมีงานวิจัยที่ดีแต่ไม่มีการนำมาใช้ 4. ระบบเกษตรกรรมค่อนข้างกระจัดกระจายความรู้ที่ได้เป็นการส่งต่อแบบรุ่นต่อรุ่น
แพลตฟอร์ม Kaset Go เป็นดิจิทัลโซลูชันที่จะแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้จำนวนมาก โดยทำหน้าที่เป็นคอมมูนิตี้ของเกษตรกรเพื่อแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน เป็นศูนย์รวมข้อมูลความรู้ที่น่าเชื่อถือที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ หรือปฏิบัติได้จริง และเป็นบริการแบบ One Stop Service ครบวงจรให้กับเกษตรกรด้วยการออกแบบแอพพลิเคชันที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีความปลอดภัย
อย่างไรก็ตามสำหรับ 4 ฟีเจอร์ที่สำคัญของแอพพลิเคชัน Kaset Go ประกอบด้วย
1. คำถามและคำตอบที่ได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญ
2. เชื่อมต่อและแบ่งปันความรู้เชิงปฏิบัติจากประสบการณ์จริงของตนเอง ส่งเสริมการสร้างชุมชนตามพืชผล รวมถึงประสบการณ์จริงจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และข้อมูลราคาผลผลิตทางการเกษตร
3. ข้อมูลเชิงลึกที่ตรงความต้องการ ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการ จัดลำดับ และวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดแบบเรียลไทม์ ช่วยให้เกษตรกรติดตามแนวโน้มการเพาะปลูกและสนับสนุนการตัดสินใจ
4. บริการด้านการเกษตรแบบดิจิทัล ฟีเจอร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้ดีขึ้น เช่น ราคาพืชผล การพยากรณ์อากาศ คำเตือนสภาพอากาศ และ การแจ้งเตือนศัตรูพืช
ปัจจุบัน Kaset Go มียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 170,000 ครั้ง และมีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 100,000 คน รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพืชผลไว้กว่า 52 รายการ โดยในปี 2564 ตั้งเป้าเพิ่มยอดผู้ลงทะเบียนใช้งานไว้ที่ 1 ล้านคน