โควิดดัน‘อี-คอมเมิร์ซ’ โต 81% แนะรัฐแก้เกณฑ์หนุน ศก.ดิจิทัล

23 ม.ค. 2564 | 09:10 น.

เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจําวันของผู้คน จากแนวโน้มที่คนไทยใช้เวลาไปกับอินเตอร์เน็ตมากถึง 3.7 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และขยับเป็น 4.6 ชั่วโมงต่อวันในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ส่งผลทำให้อัตราการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ พุ่งสูงขึ้นถึง 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจําวันของผู้คน

 

 

ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า รายงานจาก e-CONOMY SEA 2020 พบว่ามูลค่าสินค้า (Gross Merchandise Value: GMV) ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2563 มียอดรวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5.4 แสนล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 7% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากถึง 25% ต่อปี ขณะที่ภาพ รวมเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยปี 2563 ในกลุ่มอี-คอมเมิร์ซ ธุรกิจเรียกรถและสั่งอาหารผ่านแอพ การท่องเที่ยวออนไลน์ และสื่อออนไลน์ มีมูลค่ารวมกว่า 5.4 แสนล้านบาท คาดเติบโตเฉลี่ย 25% ไปจนถึงปี 2568

 

ขณะที่ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอพและการสั่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลให้ทั้งสองธุรกิจเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ย 45% ต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2568 ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการสั่งอาหารออนไลน์ซึ่งเติบโตถึง 42% แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอพ กลับได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยติดลบถึง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด การหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้านเทรนด์การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) รวมถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปหลายสิบล้านคน

 

 

“หากมองย้อนกลับไปใน รอบ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่เกี่ยว ข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะแอพพลิเคชันในการสั่ง อาหารและบริการเรียกรถออนไลน์ ในกลุ่มอาเซียนและในประเทศไทย ถือว่าเติบโตขึ้นอย่างมาก ความเข้มแข็งของธุรกิจดิจิทัลเหล่านี้ได้ช่วยให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดีในช่วงที่โควิดระบาด ขณะเดียวกันภาครัฐในฐานะผู้กำกับดูแล (Regulator) เอง ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน”

 

โควิดดัน‘อี-คอมเมิร์ซ’ โต 81% แนะรัฐแก้เกณฑ์หนุน ศก.ดิจิทัล

 

 

ปัจจุบันภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อผลักดันให้บริการ “เรียกรถผ่านแอพ” เป็นเรื่องถูกกฎหมายนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแต่การที่กระทรวงคมนาคม มีการจัดทำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก พ.ศ. …  (ร่างกฎกระทรวงฯ) และมีการกำหนดโควต้าของรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเข้าร่วมให้บริการดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาปรับแก้ไข ซึ่งควรจะตัดส่วนนี้ออกก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากจำนวนรถยนต์หรือคนขับนั้น อาจไม่สอดคล้องกับระบบอุปสงค์อุปทานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ถ้ามีการให้โควต้าน้อยเกินกว่าปริมาณความต้องการ และมาเพิ่มจำนวนในภายหลัง อาจจะต้องผ่านหลายขั้นตอนการในการอนุมัติ ซึ่งอาจไม่ทันกับสถานการณ์ความต้องการที่เกิดขึ้น

 

 

 

“อย่างไรก็ตามการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และภาครัฐเองจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจไทย ด้วยระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลักดันประเทศให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมและระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมาก กว่าปกป้องผู้ประกอบการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการปรับตัว” ผศ.ดร.สุทธิกร กล่าว 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,646 หน้า 16 วันที่ 21 - 23 มกราคม 2564