เร่งดันเน็ตเป็นสาธารณูปโภค ค่าบริการถูกช่วยผู้มีรายได้น้อย

19 พ.ค. 2564 | 23:10 น.

ดีอีเอส คาดแนวทางดันอินเตอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน หลังตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางลดบริการราคาหรือให้บริการฟรีกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ส่วนเน็ตอัลลิมิเตดนักเรียนนักศึกษา ติดปัญหางบประมาณ เล็งดึงกองทุน USO อุดหนุน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ความคืบหน้าในการการผลักดันให้ อินเตอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน นั้นขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยได้เริ่มจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อเสนอแนวทางผลักดันให้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญในการ ลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจน มีค่าบริการที่ถูกลง หรือไม่คิดค่าบริการกับผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถาน การณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เบื้องต้นคาดว่าคณะทำงานดังกล่าวจะนำเสนอแนวทางกลับมาภายใน 1-2 เดือน

ผมได้ให้นโยบายกับผู้บริหาร บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ให้ดำเนินงานในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน จากที่ได้ทำโครงการเน็ตประชารัฐที่ทำให้ประชาชนใน 24,700 หมู่บ้านห่างไกลสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ เพื่อลดความเหลื่อมลํ้า และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ การค้าการขาย และให้ต่อยอดไปสู่ประชาชนในกลุ่มต่างๆ ด้วย ให้ประชาชนตลอดจนพ่อค้าแม่ค้าในชุมชน สามารถเข้าถึงและใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อขายของผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ผมมีความเชื่อว่าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล จำเป็นต้องทำให้อินเตอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

โดยปัจจุบันอินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคน ทั้งการทำงาน การศึกษา การติดต่อสื่อสาร ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน เพื่อเข้าถึงการสื่อสาร ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ต่างๆ สามารถเท่าทันความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวของโลกได้อย่างรวดเร็ว และอินเตอร์เน็ตยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น การลงทะเบียนรับสิทธิเยียวยาจากรัฐบาล การซื้อสินค้า การชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ ก็ล้วนแต่ต้องมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตรองรับทั้งสิ้น ทางกระทรวงดิจิทัลฯ จึงพยายามผลักดันให้อินเตอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางมากที่สุด

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า หากดำเนินการสำเร็จ จะถือเป็นการช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่ประสบภาวะยากลำบากจากสถานการณ์ตอนนี้ เช่นเดียวกับที่ภาครัฐดูแลเรื่องค่าไฟฟ้า และค่านํ้าประปา ตามสิทธิที่ประชาขนได้รับจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

สำหรับความคืบหน้าของการออกแพคเกจรายเดือน 5GB ในความเร็วไม่ตํ่ากว่า 4 Mbps ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน (Unlimited Data) อัตราค่าบริการ 100 บาท ต่อเดือน สำหรับนักเรียนนักศึกษา เพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนั้นเบื้องต้น โอเปอเรเตอร์ทุกรายรับหลักการ อย่างไรก็ตามเกิดปัญหาติดขัดเรื่องงบประมาณที่นำมาอุดหนุนค่าบริการเดือนละ 100 บาทต่อเดือนต่อคน ซึ่งเดิมคาดว่าจะนำเงินจากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมมาใช้อุดหนุน แต่กองทุนดังกล่าวมีงบจำกัดล่าสุดอยู่ระหว่างการหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ USO มาใช้ให้การสนับสนุนหรืออุดหนุน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง