ในรายงานรายครึ่งปีที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงวอชิงตัน หรือวันที่ 14 มกราคม 2563 ตามเวลาประเทศไทย กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริการะบุรายชื่อ 10 ประเทศที่เข้าข่ายว่า อาจใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบทางการค้าและทำให้สหรัฐฯเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ซึ่งในรายชื่อ 10 ประเทศดังกล่าว มี 3 ประเทศเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม โดยทั้ง 3 ประเทศอยู่ในบัญชี ประเทศที่ต้องถูกจับตาตรวจสอบ หรือ Monitoring List ของสหรัฐฯ มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ขณะที่ประเทศไทย ซึ่งสุ่มเสี่ยงว่าจะถูกเพิ่มเข้าไปในบัญชีดำดังกล่าวด้วย ปรากฏว่ารอดพ้นมาได้ในการรายงานครั้งนี้
ทั้งนี้ ประเทศที่จะถูกขึ้นบัญชีต้องถูกจับตาตรวจสอบ หรือเข้าข่าย Monitoring List ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯนั้น ต้องมีคุณสมบัติ 2 ใน 3 ข้อ ของเงื่อนไขเหล่านี้ คือ
+ต้องได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ (การค้าสินค้า) อย่างน้อย 20,000 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 12 เดือน
+ต้องมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างน้อย 2% ของจีดีพี
+ต้องมีการแทรกแซงค่าเงินเทียบเท่า 2% ของจีดีพีในระยะเวลา 6 เดือนของปีเดียวกัน
สำหรับ 10 ประเทศที่อยู่ในบัญชีต้องถูกจับตาตรวจสอบ หรือ Monitoring List ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯในรายงานฉบับล่าสุดนี้ ได้แก่ จีน (ซึ่งถูกปลดมาจากบัญชีประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน หรือ currency manipulator) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และสวิสเซอร์แลนด์
ตามกฎแล้ว กระทรวงการคลังสหรัฐฯจะคงประเทศในบัญชีต้องจับตาตรวจสอบเอาไว้อย่างน้อย 2 รอบรายงานติดต่อกันนับตั้งแต่ที่ถูกนำชื่อเข้าบัญชีเป็นครั้งแรก ดังนั้น ทั้ง 3 ชาติอาเซียน คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ที่ถูกประกาศชื่อเข้าข่ายต้องถูกจับตาตรวจสอบตั้งแต่รายงานฉบับที่แล้ว(เมื่อเดือนพ.ค.2562) จึงยังปรากฏชื่ออยู่ในรายงานฉบับล่าสุดนี้ และสำหรับกรณีของเวียดนาม พบว่าในรายงานฉบับล่าสุด เวียดนามถูกเตือนด้วยเงื่อนไขเดียว ลดลงจาก 2 เงื่อนไขในรายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562
รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสถานะของประเทศหลักๆในอาเซียนไว้ดังนี้ (ข้อมูลส่วนใหญ่เก็บรวบรวมถึงเดือนมิ.ย.2562)
ประเทศไทย: ไม่อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องถูกจับตาตรวจสอบแม้ว่าจะมีความเสี่ยงใกล้เข้าข่ายแล้วก็ตาม เพราะไทยนั้นเข้าเงื่อนไขเดียว คือมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่อัตรา 5.3% ของจีดีพี
ทั้งนี้ แม้ว่า จากข้อมูลของสำนักสำมะโนประชากรสหรัฐฯ พบว่า ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นเกิน 20,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (นับถึงเดือน พ.ย. 2562) แต่ในปีดังกล่าว ค่าเงินบาทของไทยก็พุ่งขึ้นถึง 9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ไทยจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามาสร้างความได้เปรียบทางการค้า
สิงคโปร์: สิงคโปร์มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 17.9% ของจีดีพี และมีการซื้อสกุลเงินต่างชาติสุทธิที่ 9% ของจีดีพี ดังนั้นจึงเข้าข่ายถึง 2 เงื่อนไข กระทรวงการคลังสหรัฐฯยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราการออมที่สูงในสิงคโปร์ แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมากกว่าที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง
มาเลเซีย: มาเลเซียได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ (ในแง่การค้าสินค้า) คิดเป็นมูลค่า 26,000 ล้านดอลลาร์ และมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่อัตรา 3% ของจีดีพี
เวียดนาม: เวียดนามได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯที่ 47,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ในบรรดาประเทศคู่ค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ แต่ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลของเวียดนามนั้น ได้ลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2% ของจีดีพีในรายงานฉบับล่าสุดนี้
ส่วน อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ไม่ถูกกล่าวถึงเลยในรายงานฉบับนี้