ขณะที่ นักลงทุนเทขายดอลลาร์ และหันมาถือครองสกุลเงินจากประเทศที่สามารถจัดการกับ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีกว่าสหรัฐอเมริกา สกุลเงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจาก ความขัดแย้งระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรสในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่
ณ เวลา 23.43 น.ตามเวลาไทย (วันที่ 14 ส.ค.) ดอลลาร์ร่วงลง 0.42% สู่ระดับ 106.47 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.20% สู่ระดับ 126.04 เยน และดีดตัวขึ้น 0.22% สู่ระดับ 1.1840 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ลบ 0.31% สู่ระดับ 93.05
การปรับตัวลงติดต่อกัน 8 สัปดาห์ของดอลลาร์ ถือเป็นช่วงขาลงที่ยาวนานที่สุดในรอบ 1 ทศวรรษ หรือตั้งแต่เดือนมิ.ย.2553
นักลงทุนยังคงจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐชุดใหม่ รวมทั้งการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในวันที่ 15 ส.ค.นี้ เพื่อประเมินความคืบหน้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าในเฟสแรก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำเนียบขาว-คองเกรสงัดข้อไม่เลิก ทำดัชนีดอลลาร์ร่วง
"ทรัมป์"เซ็นขยายเวลาการใช้มาตรการหนุนศก.
ทั้งนี้ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐรอบใหม่ มีแนวโน้มยืดเยื้อออกไปอีกหลายสัปดาห์ เนื่องจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐไม่มีกำหนดที่จะกลับมาประชุมกันอีกในเดือนนี้ โดยวุฒิสภาจะปิดสมัยประชุมจนถึงวันแรงงานสหรัฐในวันที่ 7 ก.ย. ขณะที่สมาชิกพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันจะให้ความสนใจต่อการประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคที่จะมีขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า
นางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และนายชัค ชูเมอร์ แกนนำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา ไม่ได้พบกับนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ และนายมาร์ก มีโดว์ส หัวหน้าคณะทำงานประจำทำเนียบขาว นับตั้งแต่ที่การเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายประสบความล้มเหลวเมื่อวันศุกร์ (7 ส.ค.) และทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่มีกำหนดการเจรจารอบใหม่
นางเปโลซีได้สนทนาทางโทรศัพท์ครั้งล่าสุดกับนายมนูชินเมื่อวันพุธ (12 ส.ค.) ซึ่งนายมนูชินยืนกรานว่าทำเนียบขาวจะไม่เพิ่มวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์ตามที่พรรคเดโมแครตเสนอ