"โควิด-ศก.-เชื้อชาติ" ปัจจัยชี้ขาดเลือกประธานาธิบดีสหรัฐ

05 พ.ย. 2563 | 06:21 น.

"โจ ไบเดน" หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ ใครจะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ผลสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ยก"โควิด-เศรษฐกิจ-ความไม่เท่าเทียมด้านเชื้อชาติ" 3 ปัจจัยชี้ขาดเลือก"ผู้นำสหรัฐ"

 

การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และความอยุติธรมทางเชื้อชาติ กลายป็นประเด็นที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐฯ ให้ความสำคัญสูงสุด ท่ามกลางการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020

 

เอพีโวตแคสต์ (AP VoteCast) การสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งระดับชาติ เปิดเผยว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และเศรษฐกิจ เป็นประเด็นพิจารณาอันดับต้นๆ ในการตัดสินใจเลือกผู้นำประเทศคนใหม่ระหว่างโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 4 ใน 10 กล่าวว่าการระบาดใหญ่เป็นปัญหาสำคัญสูงสุดที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่ ส่วน 3 ใน 10 ยกให้เศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญรองลงมา ขณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 1 ใน 10 มองว่าการเหยียดเชื้อชาติเป็นประเด็นสำคัญที่สุด สอดรับกับเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องความอยุติธรรมทางเชื้อชาติและการถกเถียงเรื่องการเหยียดเชื้อชาติเชิงโครงสร้างในปี 2020

 

ผลสำรวจจากสำนักข่าวเอ็นบีซีนิวส์ (NB News) ของผู้ลงคะแนนเสียงล่วงหน้าและในวันเลือกตั้ง พบผู้ตอบแบบสอบถามราว 1 ใน 3 มองว่าเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญสูงสุดในการเลือกประธานาธิบดี ขณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มสำรวจร้อยละ 21 จัดให้ความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติเป็นปัญหาสำคัญสูงสุด และร้อยละ 18 ชี้ว่าวิกฤตโรคโควิด-19 มีส่วนสำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจของพวกเขา โดยหากต้องแลกเปลี่ยนระหว่างการควบคุมโรคโควิด-19 กับการรื้อโครงสร้างเศษฐกิจขึ้นมาใหม่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งร้อยละ 52 มองว่าการควบคุมโรคระบาดใหญ่เป็นสิ่งสำคัญกว่า ถึงแม้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็ตาม

 

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่าผลสำรวจระดับชาติเบื้องต้นของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ที่เผยแพร่ช่วงบ่ายวันอังคาร (3 พ.ย.) รายงานว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 1 ใน 3 จัดให้เศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญยิ่งยวดที่สุด โดยผู้มีสิทธิราว 1 ใน 5 มองว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 1 ใน 6 เห็นว่าการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของพวกเขามากที่สุด

 

ทั้งนี้  worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก อัพเดต ณ สิ้นวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก อยู่ที่ 48,388,665 ราย เพิ่มขึ้น 545,386 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก อยู่ที่ 1,229,564 ราย เพิ่มขึ้น 9,843 ราย ราย หายป่วย 34,633,160 ราย  โดยสหรัฐฯมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด มีผู้ติดเชื้อสะสมมากสุดถึง  9,796,053 ราย