ไร่ละ 1,000 ดับฝันผู้ค้าปุ๋ยคนละครึ่ง ชง นบข. 25 พ.ย.ขอเงินเพิ่มจ่ายชาวนา

23 พ.ย. 2567 | 04:27 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2567 | 13:34 น.

ดับฝัน “ผู้ค้าปุ๋ย-ชีวภัณฑ์” 192 ราย หลัง “คณะอนุฯด้านการผลิต” นบข.ล้มปุ๋ยคนละครึ่ง เปลี่ยนเป็นจ่ายไร่ละ 1,000 ให้กับชาวนา ลุ้น 2 โครงการใหม่ ผ่านศูนย์ข้าวชุมชนส่อวืด ขณะ “นฤมล” พลิกมติใหม่ จ่ายไร่ละ 1,000 ไม่เกิน 10 ไร่ ชง นบข. 25 พ.ย.

 จากมติคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ในคณะกรรมการในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธาน(19 พ.ย. 67) มีมติทบทวนโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง) ให้ปรับเปลี่ยนใหม่ เป็นจ่ายไร่ละ 500 บาทไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 10,000 บาท

 

ไร่ละ 1,000 ดับฝันผู้ค้าปุ๋ยคนละครึ่ง ชง นบข. 25 พ.ย.ขอเงินเพิ่มจ่ายชาวนา

 

ทั้งนี้จะใช้เงินจากโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง กรอบวงเงินกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้มีมติเห็นชอบแล้ว ซึ่งเงินที่เหลือจากจะจ่ายไร่ละ 500 จะนำไปดำเนินการใน 2 โครงการใหม่ ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน 513 ศูนย์ทั่วประเทศ ล่าสุด (20 พ.ย.67) กระทรวงเกษตร ได้มีมติ ปรับเงินช่วยเหลือชาวนาใหม่ เป็นจ่ายไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 10 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 10,000 บาทส่งผลกระทบถึงโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง

แหล่งข่าววงการค้าปุ๋ยเคมีและชีวภัณฑ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง ว่า หลังจาก ครม.เห็นชอบในรัฐบาลที่แล้ว มีผู้ประกอบการค้าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ สมัครเข้าร่วมโครงการผ่านกรมการข้าว จำนวน 192 รายซึ่งหลังจากจะปรับเปลี่ยนเป็นจ่ายไร่ละ 1,000 บาท ผู้ประกอบการหลายรายรู้สึกโล่งใจที่โครงการปุ๋ยฯไม่เกิดขึ้น โดยมองว่าเปลี่ยนเป็นจ่ายตรงให้กับชาวนาจะดีที่สุด

 

ไร่ละ 1,000 ดับฝันผู้ค้าปุ๋ยคนละครึ่ง ชง นบข. 25 พ.ย.ขอเงินเพิ่มจ่ายชาวนา

 

นอกจากนี้ยังมองอีกว่าหากโครงการปุ๋ยฯ เกิดขึ้นจะเป็นเผือกร้อนของรัฐบาล เพราะมีทั้งการจำกัดสูตรปุ๋ยจะทำให้เกิดการผูกขาดทางการค้า ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีลูกค้าประจำกันอยู่แล้ว ขณะเดียวกันจะส่งผลกระทบกับสหกรณ์การเกษตร เพราะส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจด้านปุ๋ยด้วย แต่ก็ต้องจำใจเข้าร่วมเพราะเป็นโครงการรัฐบาล

“ส่วนอีกกลุ่ม เรียกว่ากลุ่มผู้ก่อการก็มั่นใจว่าโครงการนี้จะเกิด เพราะผ่านมติ ครม.มาแล้วก็ไปสั่งซื้อกระสอบปุ๋ยเป็นล้านกระสอบราคาอย่างตํ่าลูกละ 8-9 บาท พร้อมมีการพูดคุยกับบริษัทนำเข้าปุ๋ยจากประเทศจีนเพื่อขอนำเข้าโดยตรง แล้วมีการแบ่งโควตากันเรียบร้อยแล้วว่าบริษัทไหนจะได้เท่าไหร่จากโครงการนี้ ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะขาดทุนหนัก”

นอกจากการจ่ายเงินช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 แล้ว ยังมีอีก 2 โครงการที่กรมการข้าวจะดำเนินการเพิ่มเติมจากงบประมาณที่เหลืออีกว่า 2.4 พันล้านบาท ซึ่งแหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า งบประมาณส่วนที่เหลือนี้ไม่แน่ใจว่าจะนำไปดำเนินโครงการได้หรือไม่ หรือต้องคืนกระทรวงการคลัง

 

ไร่ละ 1,000 ดับฝันผู้ค้าปุ๋ยคนละครึ่ง ชง นบข. 25 พ.ย.ขอเงินเพิ่มจ่ายชาวนา

 

อย่างไรก็ตามทางกรมการข้าวเตรียมเสนอ 2 โครงการผ่านศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อให้แต่ละพื้นที่สร้างโซโลเก็บข้าวเปลือก ขนาดความจุ 1,000 ตัน พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อยกระดับราคาข้าวเปลือกในตลาดให้มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น และส่งเสริมการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย และจะช่วยยกระดับราคาข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้เพิ่ม 500-1,000 บาทต่อตัน รวมทั้งสิ้นจะมีรายได้เพิ่ม 35 -70 ล้านบาทต่อปี ทำให้มูลค่าจากการขายข้าวได้ทั้งประเทศ เพิ่มขึ้น 875-910 ล้านบาทต่อปี เป้าหมาย 513 ศูนย์ ในพื้นที่ 2 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด จะเข้า นบข.หรือไม่ต้องติดตาม

 

ไร่ละ 1,000 ดับฝันผู้ค้าปุ๋ยคนละครึ่ง ชง นบข. 25 พ.ย.ขอเงินเพิ่มจ่ายชาวนา

ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึง มติการปรับเงินช่วยเหลือชาวนาใหม่ เป็น 1,000 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ เป็นผลจากเกษตรกรร้องเรียนเข้ามาจำนวนมากว่าส่วนใหญ่มีที่ดินไม่เกิน 10 ไร่ อย่างไรก็ดี จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในวันจันทร์ที่ 25 พ.ย.นี้ คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 38,578 ล้านบาท มากกว่าเดิมที่มีกรอบวงเงินอยู่ 29,980.1645 ล้านบาท ประเด็นนี้ จะต้องมีการขอความเห็นจาก นบข.อีกครั้งหนึ่ง

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,047 วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567