กระทรวงการคลังสหรัฐ มีกำหนดเปิดเผย รายงานว่าด้วยประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ในเร็ว ๆนี้ โดยสหรัฐมี หลักเกณฑ์ 3 ข้อ ในการตัดสินว่า ประเทศใดเข้าข่ายเป็นประเทศที่ทำการปั่นค่าเงิน ได้แก่
1)ประเทศนั้นมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์
2) มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
3)ธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวได้เข้าแทรกแซงค่าเงิน และเข้าซื้อดอลลาร์เกินกว่า 2% ของ GDP
นายแบรด เซดเซอร์ อดีตนักเศรษฐศาสตร์ประจำกระทรวงการคลังสหรัฐ และเป็นสมาชิกในสภาวิเทศสัมพันธ์ของสหรัฐ กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์พบว่า ไทย เวียดนาม และสวิตเซอร์แลนด์ต่างเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อข้างต้น ในไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ ขณะที่ไต้หวันเข้าเกณฑ์ในไตรมาส 2 ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐออกมาตรการทางภาษีเพื่อตอบโต้ประเทศทั้ง 4 นี้
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศจัดเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนของรัฐบาล (CVD) ต่อยางรถยนต์ที่นำเข้าจากเวียดนาม โดยจะเรียกเก็บในอัตรา 6.23-10.08% ซึ่งการดำเนินการของสหรัฐในครั้งนี้ นับเป็นการใช้มาตรการดังกล่าวเป็นครั้งแรกเพื่อตอบโต้รัฐบาลต่างชาติที่จงใจลดค่าเงินเพื่อเอื้อต่อการส่งออกสินค้า โดยกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า เวียดนามจงใจลดค่าเงินดองให้อ่อนค่าเกินจริงในปีที่แล้วเพื่อหวังผลทางการค้า
ทั้งนี้ รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า เวียดนามได้จงใจลดค่าเงินดองราว 4.7% ในปี 2562 เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยรัฐบาลเวียดนามได้ทำการแทรกแซงค่าเงินดอง ด้วยการเข้าซื้อสกุลเงินตราต่างประเทศสุทธิคิดเป็นมูลค่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว (2562) โดยดำเนินการผ่านทางธนาคารกลางเวียดนาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยรอดบัญชี “เฝ้าจับตา” ก.คลังสหรัฐฯ
ธปท. ยืนยันไม่ได้แทรกแซงบิดเบือนค่าเงิน หวังผลการค้า
โดนแล้ว "สหรัฐ"สอบสวน"เวียดนาม"บิดเบือนค่าเงิน
รายงานดังกล่าวเป็นรายงานที่กระทรวงการคลังสหรัฐจัดทำขึ้นเพื่อส่งไปยังกระทรวงพาณิชย์สำหรับการสอบสวนกรณีการนำเข้ายางรถยนต์จากเวียดนาม โดยกระทรวงการคลังสรุปว่าเวียดนามได้จำหน่ายยางรถยนต์ในสหรัฐในราคาที่ต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลเวียดนามเข้าแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตรา