“อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล” ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา งาน Design week หรือ Design festival ได้ถูกจัดขึ้นในกว่า 150 เมืองทั่วโลก โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศพร้อมๆกับการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศของตนและ Design week ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริงในทุกๆ ปีซึ่งประเทศไทย ก็มีการจัดงานDesign week ในเมืองหลักทั่วประเทศเช่นกัน ประกอบด้วย Bangkok Design week, Chiang Mai Design week และ เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ หรือ Isan Creative Festival
สำหรับปีนี้ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ2564 ซึ่งนำเสนอภายใต้แนวคิด “Resurgence of Possibilities ก้าวต่อไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่” มีเป้าหมายที่จะยกระดับกรุงเทพฯสู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมกับนำความคิดสร้างสรรค์ มาช่วยยกระดับชุมชนท้องถิ่น ธุรกิจดั้งเดิม ผ่านโครงการ Made in Charoenkrung 2 จับคู่ร้านค้าดั้งเดิมกับนักออกแบบ เพื่อต่อยอดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยมีการจัด Business Matching 30 ผู้ประกอบการ SMEs พัฒนาสินค้า ผ่านโครงการ Launchpad Showcase ที่คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 30-50 ล้านบาทเลยทีเดียว
Made in Charoenkrung 2 เป็นโปรเจกต์พัฒนาศักยภาพทางธุรกิจของคนในพื้นที่ย่านเจริญกรุงด้วยความคิดสร้างสรรค์ ระหว่างร้านค้าธุรกิจดั้งเดิมกับนักออกแบบหรือนักธุรกิจนอกพื้นที่ เพื่อต่อยอดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยเดือนมิถุนายนนี้ เป็นเดือนของกิจกรรมเจาะลึกย่าน เจริญกรุง -ทรงวาด
แต่ก่อนจะออกไปสำรวจเมืองในยุค New Normal ก็ต้องเช็คความปลอดภัย เตรียมทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และที่สำคัญคือ ตรวจเช็คข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ “Crowd Check” (https://crowdcheck.info/en) โดย Op-portunist x Everyday architect & design studio หนึ่งในโปรเจคของ Bangkok Design Week 2021 ที่ได้ออกแบบและพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเชิงป้องกัน ที่มุ่งหวังสร้างความเชื่อมั่นในการออกไปใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะอย่างปลอดภัย โดย “Crowd Check” จะให้ทั้งข้อมูลความหนาแน่นของพื้นที่สาธารณะและช่วยวางแผนก่อนไปถึงจุดหมายหรือในขณะที่อยู่ในพื้นที่ โดยการวัดความหนาแน่นของฝูงชน ด้วยวิธีการจับสัญญาณบลูทูธแบบเรียลไทม์ และวิเคราะห์จำนวนคนสัมพันธ์กับความจุของสถานที่นั้นๆ ร่วมกับการใช้อุปกรณ์จัดการพื้นที่ในย่านเจริญกรุง ที่เตรียมพื้นที่ให้พร้อมรองรับการใช้งานท่องเทศกาลอย่างมีระยะห่าง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40 แห่ง และ Toolkits ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จัดงานหลัก
การท่องย่านเจริญกรุงเริ่มต้นที่นิทรรศการแสดงผลงานแอนิเมชั่นสามมิติ Creative Business AR Exhibition ของ 5 ธุรกิจสร้างสรรค์ในย่านเจริญกรุงได้แก่ Homu-คาเฟ่ ขนมญี่ปุ่นโบราณในตึกแถวร้อยปี ในซอยเจริญกรุง 44, Siam Bronze Factory-ร้านผลิตภัณฑ์จากบรอนซ์จากช่างฝีมือท้องถิ่น อยู่ระหว่างซอยเจริญกรุง 36 และ 38, Eastern Antiques-ร้านเครื่องประดับจากเศษกระเบื้องที่มีชิ้นเดียวในโลก อยู่ใกล้ซอยเจริญกรุง 34, ก้วงเส็งล้ง -ร้านถังไม้สักเพื่อชีวิต แถวย่านถนนทรงวาด ตรงข้ามวัดปทุมคงคาและห้างใบชา ก.มุยกี่-ร้านใบชาสร้างสุนทรีย์ บริเวณแยกไมตรีจิตต์
อีกพื้นที่ที่น่าสนใจ คือ พื้นที่สาธารณะสีเขียวจำลอง (Pop-up Park) Choduk Community Pocket Park โดย we!park-we create park ที่เปลี่ยนพื้นที่ทิ้งร้างในบริเวณชุมชนโชฎึก ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่สามารถรองรับการใช้งานกิจกรรมต่างๆ ได้หลากหลาย นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ของการสำรวจใจ ผ่อนคลายใจ เยียวยาใจ โมเดลต้นแบบของการผสานงานออกแบบ และเทคโนโลยีเข้ากับความรู้ด้านสุขภาพจิต เพื่อเป็นก้าวแรกในการหันกลับมาให้ความสำคัญ และเรียนรู้การดูแลสุขภาพจิตสำหรับทุกคน จัดแสดงที่ ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
Made in Charoenkrung 2 ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่น่าสนใจ และการจัดนิทรรศการก็ไม่ได้มีแค่เจริญกรุง-ทรงวาด แต่ยังมีอีก 3 ที่ คือ สามย่านอารีย์-ประดิพัทธ์และทองหล่อ-เอกมัย ใครสนใจก็ลองติดตาม เมื่อความคิดสร้างสรรค์ถูกนำไปปรุงรสเพิ่มสีสันให้กันย่านดังในกรุงเทพฯแต่ละจุดแล้วจะทำให้พื้นที่ราวนั้นกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทั้งสำหรับคนไทยและต่างชาติที่แสนจะทรงเสน่ห์ และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ได้อย่างน่าอัศจรรย์อย่างไร ต้องลองติดตามงานเขามียาวๆ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 16 ฉบับที่ 3,689 วันที่ 20 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564