กสอ. ผนึกกำลัง บริษัท เด็นโซ่ฯ เดินหน้าขับเคลื่อนระบบการผลิตแบบลีนออโตเมชัน หวังยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มสูบ
รายงานข่าวจาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งว่า วันที่ 9 เม.ย. 2562 กสอ. ร่วมกับ บริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น โดยพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU การพัฒนาโครงการสาธิตระบบการผลิตแบบลีนออโตเมชัน (Lean Automation System Integrators : LASI Project) ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดย นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นผู้แทน และนายคัทซึฮิโกะ สุกิโตะ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่นฯ เป็นผู้แทนในครั้งนี้ จัดขึ้น ณ ห้องประชุมชั้น 6 โซน B อาคาร กสอ. เพื่อเดินหน้ายกระดับเพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรมไทย
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้จัด "พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ในการพัฒนาโครงการสาธิตระบบการผลิตแบบลีนออโตเมชัน (Lean Automation System Integrators : LASI Project) ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ บริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน Lean Automation ให้เป็นที่เข้าใจแก่บุคลากรภายในสถานประกอบการ และมีการพัฒนา System Integrator หรือ SI (ผู้ที่ทำหน้าที่ออกแบบและติดตั้งระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรม) ให้สามารถนำไปประยุกต์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสถานประกอบการอย่างสูงสุด
ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวน SI ให้เป็น 1,400 ราย ภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีการดำเนินการพัฒนา System Integrator และมีการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการเพิ่มทักษะและการสร้างความตระหนักในการปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ไปแล้ว กว่า 350 ราย โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจในการพัฒนาโครงการสาธิตระบบการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น (Lean Automation System Integrators : LASI Project) ซึ่งเป็น 1 ใน กิจกรรม 3-Stage Rocket Approach ของขั้นที่ 3 Lean Automation System Integrator : หรือ LASI Project (จรวดขั้นที่ 3)
"การพัฒนาดังกล่าว มีเป้าหมายในการร่วมมือกันเพื่อสานต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน Lean Automation ให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะดำเนินการพัฒนา System Integrator อย่างต่อเนื่อง และมีการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมด้วยการเพิ่มทักษะ พร้อมทั้งฝึกอบรมให้กับบุคลากรที่จะเป็นวิทยากรต่อไป (Master Trainer) เพื่อรองรับแผนในการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ และนอกจากแผนที่จะเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ โดยภาครัฐไม่ได้สนับสนุนเฉพาะ SI และผู้ผลิตระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นการกระตุ้นให้ทุก ๆ ภาคส่วน เห็นความสำคัญและเข้าใจว่า ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มีส่วนเข้ามาเสริมศักยภาพและสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรม และเมื่อมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จะสามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด"
⇲ กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์
"นอกจากนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องให้การสนับสนุนและสร้างเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นเป็นนวัตกรรมเฉพาะของคนไทยให้ได้ ดังนั้น การดึงหน่วยร่วมดำเนินงานทุกภาคส่วนมาช่วยกันขับเคลื่อนจะก่อให้เกิดการปฏิรูปอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติไทยแลนด์ 4.0 ด้วยแนวทางประชารัฐ นอกจากนี้ ในปี 2562 นี้ กสอ. ได้เตรียมแผนที่ขยายผลการดำเนินการจาก 3 Stage Rocket Approach ในขั้นที่ 1 และ 2 ไปสู่จรวดขั้นที่ 3 อีกไม่น้อยกว่า 100 กิจการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างแท้จริง โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นอีกกว่าร้อยละ 45 และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 30" นายกอบชัย กล่าว
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทาง บริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) จะเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนการฝึกอบรมหลักสูตร Lean Automation for Industry ซึ่งครอบคลุมผู้ที่เป็น SI ในทุกกลุ่มสาขา รวมทั้งผู้ที่จะต้องพัฒนาร่วมกับสถาบันเครือข่ายในการเป็น Master Trainer ตลอดจนแนวทางการพัฒนาโครงการสาธิตระบบการผลิตแบบลีนออโตเมชัน (Lean Automation System Integrators : LASI Project) ในปี 2562 นี้ โดยจะเลือกกลุ่มเป้าหมายให้ตรงกับการพัฒนา SI ทั้งที่เป็นแบบอิสระ (External SI) และแบบที่ประจำในโรงงานอุตสาหกรรม (Internal SI) และปรับปรุงหลักสูตรการสอน ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาเอสเอ็มอีไปสู่เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต