ปตท.เดินหน้าฮับอินโนเวชั่น ในอีอีซีไอ เล็งดึงนักลงทุนในและต่างประเทศ 300-500 รายที่เป็นลูกค้าอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 31 แห่งในอีอีซี ลงทุนด้านนวัตกรรม
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) PTT เปิดเผยว่า ปตท. เตรียมจัดโรดโชว์เพื่อเชิญชวนนักลงทุนไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนที่เป็นลูกค้าของกลุ่มปตท.ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี 31 แห่งที่มีอยู่ 300-500 รายทั้งไทยและต่างประเทศ เข้ามาเช่าใช้พื้นที่สำหรับตั้งโรงงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ซึ่งอยู่ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EECi)
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร
ทั้งนี้เพื่อสร้างให้เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระดับประเทศ รองรับกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของทุกภาคส่วน ซึ่งปัจจุบัน มีกลุ่ม ปตท.ที่เริ่มเข้าไปเช่าพื้นที่อย่าง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในการพัฒนาโดรน ใช้สำหรับตรวจสอบหอเผาทิ้ง และหุ่นยนต์ใต้น้ำ ขณะที่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) พัฒนาหุ่นยนต์ตรวจสอบสภาพของท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น รวมทั้งความร่วมมือกับนักลงทุนรายใหญ่หลายราย เช่น กลุ่มจีอี จากสหรัฐ การลงนามความร่วมมือกับหัวเว่ย และความร่วมมือกับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี เป็นต้น ส่วนบริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์)จำกัด ก็เป็นคู่ค้าที่ทำเรื่องของการพัฒนาระบบ ซึ่งมีฐานผลิตอยู่แล้วก็จะมีความร่วมือในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนระดับปริญญาโท ทางด้านไฟฟ้า เป็นต้น
ปตท.คาดว่า จะจัดโรดโชว์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ หรือ ไตรมาส 1 ปีหน้า โดยจะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ผู้บริหารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และอาจารย์หลายๆท่านมาบรรยายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่พื้นที่
“การพัฒนาอีอีซีไอ ขณะนี้มีความคืบหน้ามาก ซึ่งสวทช.ได้เดินหน้าก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้วยเงินลงทุนราว 1,200 ล้านบาทแล้ว คาดจะแล้วเสร็จในปี 2564 และอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบมาจัดซื้ออุปกรณ์การวิจัยและพัฒนาอีกราว 3,000 ล้านบาท เพื่อเปิดบริการให้นักลงทุนเข้ามาเช่าพื้นที่ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้”
หลังจากนั้น หากจัดฐานหรือดึงนักลงทุนที่อยู่ในประเทศได้ระดับหนึ่ง จะไปเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศที่เป็นกลุ่มมีนวัตกรรม เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ร่วมทีมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น BOI ที่มีแผนจะไปประเทศไหนปตท.ก็จะไปร่วมด้วย โดยเฉพาะในยุโรปมีแผนไป 2-3ครั้ง
“ปตท.คาดหวังให้ประเทศไทยมีการสร้างนวัตกรรมและมีโซลูชั่นใหม่ๆให้กับประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าคนไทยมีความรู้ความสามารถที่จะดำเนินการเองได้ แต่อาจขาดความพร้อมในบางเรื่องเท่านั้น จึงต้องร่วมมือกันสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาให้ไปสู่เป้าหมาย”
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด ปตท.) ยืนยันว่า จะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่เป็นแหล่งกำเนิดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่อเนื่องไปอีก 10 ปี (ปี2565-2574) จากเดิมที่จัดสรรงบประมาณถึงปี 2564 เพราะการตั้งหลักเรื่องการสร้างบุคลากรดังกล่าวตั้งใช้เวลา และใช้เงินทุน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีสถานบันการเงิน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย มาช่วยสนับสนุน รวมถึงมีบริษัทต่างๆมาสนับสนุน สระว่ายน้ำ ฟิตเนส และสนามกีฬา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน ยังเชื่อมั่นการดำเนินงานของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กองทุนอนุรักษ์ฯ) ได้สนับสนุนเงินทุนจำนวน 180 ล้านบาท เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) โดยจัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและลิเธียมซัลเฟอร์ วงเงิน 180 ล้านบาท ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บไฟฟ้าได้ และมีแผนจะนำไปใช้กับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ที่กระทรวงพลังงานสนับสนุนด้วย