วัดฝีมือ สราวุธ ทรงศิวิไล ‘เจ้ากรมราง’ สางปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพง

13 ก.ค. 2562 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2562 | 06:52 น.

หลายคนคงจะได้เห็นภาพแผนการปฏิบัติการตามนโยบายของรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่เกี่ยวกับระบบรางชัดเจนมากขึ้นเมื่อ “กรมการขนส่งทางราง” ได้ก่อตั้งตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา หลังจากนี้คงจะเห็นการเร่งขับเคลื่อนแผนการพัฒนาระบบรางระยะที่ 1 (M-Map 1) และแผนระยะ
ที่ 2(M-Map 2) โดยเฉพาะรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และตามจังหวัดสำคัญในภูมิภาค

ต่อเรื่องนี้นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง คนแรก ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความพร้อมในการขับเคลื่อนองค์กรด้านระบบรางในหลายประเด็น โดยเฉพาะการเตรียมบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง ช่วงปลายปีนี้

 

เร่งตั้งองค์กร

ความคืบหน้าอยู่ระหว่างขอเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ 176 อัตรา พนักงานราชการ 27 อัตรา รวมทั้งสิ้น 203 อัตรา แต่เมื่อศึกษารายละเอียดของพ.ร.บ.การขนส่งทางรางเชิงลึกแล้วจะพบว่าต้องใช้อัตราเจ้าหน้าที่เพิ่มเป็น 260 อัตรา คาดว่าปลายปีนี้พ.ร.บ.การขนส่งทางรางจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนตามแผนอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

วัดฝีมือ สราวุธ ทรงศิวิไล ‘เจ้ากรมราง’ สางปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพง

สราวุธ ทรงศิวิไล

ทั้งนี้ช่วงแรกประชาชนคาดหวังความสำเร็จของการตั้งกรมการขนส่งทางรางในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง ซึ่งจะได้เร่งพิจารณาหาทางออกในเรื่องนี้โดยจะต้องรอฟังนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ เบื้องต้นนั้นจะมีการเสนอมาตรการต่างๆ ให้รัฐบาลพิจารณากำหนดเป็นนโยบายชัดเจนในภาคปฏิบัติซึ่งทั้ง 5 เส้นทางที่เปิดให้บริการในรูปแบบสัมปทานระบุไว้ในสัญญาแล้วนั้นจะต้องหาแนวทางกันต่อไป รวมทั้งเส้นทางใหม่ที่จะเปิดให้บริการหลังจากนี้เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้ากันมากขึ้น

เช่นเดียวกับเรื่องมาตรการความปลอดภัยในการใช้บริการรถไฟฟ้า แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะพบ ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในบางครั้งในกรณีเกิดอาการเสียระหว่างให้บริการ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้เร่งแก้ไขในทันที อีกทั้งพบว่าบางสถานีพื้นที่รองรับไม่เพียงพอซึ่งก็ได้กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งทำแผนบริหารจัดการต่อไปแล้ว

  “จึงได้เตรียมรายละเอียดเพื่อนำเสนอรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมชุดใหม่ให้เห็นภาพการขับเคลื่อนกรมการขนส่งทางราง การใช้ประโยชน์จากการลงทุนระบบรางของภาครัฐ ก่อนที่จะนำแผนไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลภายใต้แผนยุทธศาสตร์ที่กระทรวงคมนาคมจัดทำไว้แล้วโดยเฉพาะเส้นทางสายใหม่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มีแผนดำเนินการ อาทิ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และเส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) มีแผนพัฒนาระบบรางในจังหวัดต่างๆ ดังนั้นน่าจะเดินหน้าตามแผนที่จัดเตรียมไว้เสนอรัฐบาลชุด ใหม่เร่งผลักดัน พร้อมรับนโยบายรัฐบาลใหม่มาเร่งขับเคลื่อน”

 

แผนขับเคลื่อน

เน้นเร่งรัดโครงการสำคัญคาดว่ารัฐบาลชุดใหม่ยังจะเร่งผลักดัน ได้แก่ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ทั้งตามแผนในส่วนต่อขยาย เส้นทางสายใหม่ ทั้งรูปแบบการลงทุน โดยรถไฟฟ้าที่ได้ดำเนินการตามแผนระยะที่ 1 (M-Map 1) ครบทั้ง 12 เส้นทาง ส่วนแผนระยะที่ 2 (M-Map 2) จะต้องรอรัฐบาลใหม่เร่งผลักดัน มีทั้งสายสีนํ้าตาล และเส้นทางที่อยู่ในการรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร คือ สายสีทอง สายสีเทา และสายสีฟ้า

ปัจจุบันทุกเส้นทางเดินหน้าตามแผน ส่วนแผนระยะที่ 2 จะเข้าไปเสริมส่วนแรกให้โครงข่ายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ปริมณฑล มีจุดเชื่อมต่อสำคัญ จุดจอดแล้วจรให้เข้าถึงบริการระบบขนส่งมวลชนได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งจะมีระบบรถ เรือ ราง ให้เป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3486 ระหว่างวันที่ 11 - 13 กรกฎาคม 2562