จราจรวิกฤติลามเลยไปทั่วทุกตรอกซอกซอยจากปริมาณรถยนต์กับผิวจราจรไม่สัมพันธ์กันแม้กระทั่งทางพิเศษ หรือทางด่วนที่คนใช้รถใช้ถนนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ “ด่วน” สมชื่อเมื่อชำระค่าผ่านทางต้องจอดแช่เป็นเวลานานๆ แม้รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนขยายโครงข่ายเพิ่มทั้งเส้นทางรถไฟฟ้า, ถนนระดับดิน, ทางด่วนสายใหม่ระบายปริมาณจราจรให้ออกนอกเมือง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที ติดปัญหารอบด้านการต่อต้านจากประชาชนเจ้าของพื้นที่ เมื่อต้องเวนคืน งบประมาณมีอยู่อย่างจำกัด ขั้นตอนการสรรหาผู้รับจ้าง หรือ รูปแบบพีพีพี รัฐร่วมลงทุนเอกชน ต้องใช้เวลาแสนนาน
ขณะเสียงประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนสนับสนุนรัฐบาลก่อสร้างทาง 2 ชั้นหรือ ชั้นที่ 2 คร่อมไปตามเส้นทางเดิม ช่วยประหยัดงบประมาณ ก่อสร้างได้ท่วงที ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ไม่น่ากังวลว่าจะเกิดอันตรายเพราะการก่อสร้างจะเน้นช่วงเวลากลางคืนปริมาณรถเบาบาง และสามารถรองรับปริมาณจราจรเพิ่มได้ไม่ตํ่ากว่า 1 แสนคันต่อวัน
อย่างโครงการก่อสร้างและปรับปรุงทางพิเศษชั้นที่ 2 (Double Deck) คร่อมบนเส้นทางเดิมช่วงตั้งแต่ งามวงศ์วาน-โรงพยาบาลพระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท เดิมที คณะกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ดกทพ.) มีมติ มอบ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ปรับปรุงก่อสร้าง ด่วนชั้นที่ 2 แก้ปัญหาจราจร เพราะทางด่วนเดิม พร้อมขยายสัมปทาน 30 ปี แลกภาระหนี้กว่า 3.2 แสนล้านบาท หากรวมทั้ง 17 คดีกรณีปมค่าโง่ทางด่วนที่คาราคาซังมานาน ล่าสุด กลับถูกยกเลิกไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคต โครงการ Double Deck อาจถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องวัดใจ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ว่าจะใช้รูปแบบนี้หรือไม่
หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,534 วันที่ 26-28 ธันวาคม 2562