‘มานะ’ชงแก้ระเบียบ 3 คดีใหญ่ ต้องใช้ที่ประชุมตุลาการ

14 ม.ค. 2563 | 07:00 น.

หลังจากรู้ผลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดใน“คดีอู่ตะเภา” ระหว่าง บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกรวม 5 คน ผู้ฟ้องคดี กับ คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ผู้ถูกฟ้องคดี ที่กลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ส่งผลให้กลุ่มธนโฮลดิ้ง ได้เข้าร่วมแข่งขันในการประกวดราคาได้ต่อไป

 

ต่อเรื่องนี้ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวให้ความเห็นเพียงสั้นๆ ว่า “Super surprise!” กับเรื่องนี้มาก แต่ทุกอย่างก็ต้องเดินหน้าต่อไปและเชื่อว่านับจากนี้ไปสังคมคงตั้งคำถามกับบทบาทของศาลปกครองสูงสุด ว่าจะสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

“ขอชื่นชมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ยืนอยู่บนความถูกต้องในเรื่องนี้ และพยายามที่จะให้คดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด แต่เท่าที่ทราบไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมใหญ่แต่อย่างใด” ดร.มานะ ตั้งข้อสังเกต

ทั้งนี้ มาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ระบุไว้ว่า ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้ หรือ มีกฎหมายหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ ก็ให้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่

ดังนั้น ในคดีสำคัญแทนที่จะใช้ดุลพินิจของประธานศาลปกครองสูงสุด จึงเสนอว่า ควรกำหนดเป็นกติกาให้ชัดเจนว่า คดีที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด คือ

1.คดีที่มีผลกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดินอย่างรุนแรงและมีนัยสำคัญ เช่น คดีอู่ตะเภา

2.เรื่องที่อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์จำนวนมาก เช่น คดีโฮปเวลล์ และ

3. คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

‘มานะ’ชงแก้ระเบียบ  3 คดีใหญ่  ต้องใช้ที่ประชุมตุลาการ

ก่อนศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เคยให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากศาลยกฟ้องซึ่งให้กลุ่ม CP แพ้ในคดีนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ทุกอย่างที่ได้ทำกันมายาวนานจนเป็นแนวปฏิบัติในเรื่องของระบบและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นถูกต้องแล้ว

แต่ถ้าศาลสั่งให้กลุ่ม CP ชนะคดีนี้จะเกิดความเสียหายอย่างมาก ผลประโยชน์ที่เอกชนอ้างเป็นตัวเงินที่รัฐจะได้จากเรื่องนี้เทียบไม่ได้กับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ได้ทำมา รวมถึงระบบกฎหมายของประเทศ ทั้งยังบั่นทอนความยุติธรรมและระบบการแข่งขันที่กระทบทั้งหมด เป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ทำกันมา

‘มานะ’ชงแก้ระเบียบ  3 คดีใหญ่  ต้องใช้ที่ประชุมตุลาการ

ถ้ากลุ่ม CP ได้ประโยน์ จากนี้ไปข้าราชการที่ทำหน้าที่หรือรับผิดชอบในเรื่องลักษณะนี้ จะใช้ดุลพินิจในการอนุญาตและผ่อนปรนได้ ซึ่งพฤติกรรมลักษณะนี้เป็นที่มาของ “การทุจริตคอร์รัปชัน”ได้

รวมทั้งชื่นชมความพยายามของกองทัพเรือในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ยืนยันตัดสิทธิกลุ่มธนโฮลดิ้ง ที่นำส่งเอกสารเลยเวลาที่กำหนด ว่าเป็นการดำเนินการที่ต้องชื่นชม เพราะเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามสิทธิที่พึงมีตามช่องทางที่สามารถกระทำได้ เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่าสูง เพื่อไม่ให้ซํ้ารอยกับกรณีค่าโง่โฮปเวลล์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ที่รัฐอาจจะต้องชดเชยให้กับเอกชนด้วยเงินมหาศาล

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,539 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2563