ทางหลวง เทแสนล้าน 3มอเตอร์เวย์ใหม่

27 ก.พ. 2563 | 04:15 น.

ทางหลวง ดันต่อ 3 มอเตอร์เวย์ใหม่แสนล้าน ของบปี 64 เชื่อมเมืองอีอีซี-ประตูสู่อีสาน ชลบุรี-จันทบุรี-แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี-โคราช-ขอนแก่น ทะลุหนองคาย 400-500 กม.


การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี นอกจากรถไฟความเร็วสูง เมืองการบิน สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นหัวใจหลักแล้ว กรมทางหลวงยังขยายเขตทางในพื้นที่ การลงทุนทางพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยาย สาย 7 พัทยา-มาบตาพุด ที่มีแผนเปิดให้บริการ ในเดือนกรกฎาคมนี้ อำนวยความสะดวกในการสัญจร การขนส่งสินค้า อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้เมืองอีอีซี เชื่อมโยงการเดินทางครอบคลุมครบสมบูรณ์ต้องขยายเส้นทางต่อไปยังโซนตะวันออกของประเทศ อย่างจันทบุรี ปราจีนบุรี รองรับการขยายตัวของระเบียงตะวันออกแห่งนี้ อีกทั้งยังลากแนวเส้นทางมุ่งหน้าสู่ประตูอีสาน โดยมีมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช เป็นข้อต่อสำคัญ ประเมินว่าจะช่วยสร้างความเจริญเข้าสู่พื้นที่ เนื่องจากภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการเติบโตสูง รองจากกรุงเทพมหานคร

 

ดันมอเตอร์เวย์จันท์

จากการให้สัมภาษณ์ของนายปิยพงษ์จิวัฒนกุลไพศาลผู้อำนวยการ กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่า กรมมีแผนขยายโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สนับสนุนพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างของบประมาณปี 2564 เพื่อศึกษาความเหมาะสมในเส้นทางชลบุรี - จันทบุรี เบื้องต้นคาดว่าใช้งบศึกษาราว 30-40 ล้านบาท โดยเป้าหมายใช้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าสู่พื้นที่อีอีซี รวมทั้งจะเป็นโครงการสำคัญในการขยายเมือง หลังก่อสร้างส่วนต่อขยายมอเตอร์เวย์ สาย 7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด และเตรียมเปิดใช้เส้นทางในเดือนกรกฎาคมนี้

 

อีอีซี- อีสาน แค่3ชม.

ขณะเดียวกันกรมมีโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์เชื่อมภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางแหลมฉบัง - ปราจีนบุรี - นครราชสีมา ปัจจุบันแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ช่วงแหลมฉบัง - ปราจีนบุรี ระยะทางประมาณ 130-140 กิโลเมตร ใช้งบราว 4 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันออกแบบก่อสร้าง คืบหน้า 50% หรือประมาณ 60-70 กม. หลังจากนี้ ทล.จะเสนอของบปี 2564 ออกแบบเพิ่มเติมอีก 60-70 กม. ให้แล้วเสร็จ

“หากโครงการดังกล่าวสามารถพัฒนาได้ครบทั้ง 2 ระยะ เชื่อว่าจะเป็นเส้นทางมอเตอร์เวย์ที่สำคัญของประเทศ รวมถึงเป็นเส้นทางที่สนับสนุนการขนส่งสินค้า ซึ่งจะเป็นประตูสู่อีสาน และทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างภาคอีสานและภาคตะวันออกใช้เวลาลดลงจาก 5.30 ชั่วโมง เหลือเพียง 3.30 ชั่วโมง”

 

 

ชลบุรีทะลุหนองคาย

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง เสริมว่า สำหรับมอเตอร์เวย์สายชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)- ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359)จากผลการศึกษา พบว่าเส้นทางนี้ ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)- ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) เป็นเส้นทางช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ สามารถรองรับปริมาณการคมนาคมขนส่งจากโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ตามแนวเส้นทางเข้าสู่ท่าเรือ
แหลมฉบัง เชื่อมโยงกับโครงข่ายทางหลวงสายหลัก นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของ
เส้นทางการขนส่งไปยังด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ถือเป็นโครงการในอนาคตที่ยังไม่เริ่มออกแบบ เนื่องจากแนวเส้นทางจะพาดผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จำเป็นต้องเจาะอุโมงค์ผ่าน ระยะทางราว 10 กม. ทำให้เส้นทางนี้ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างละเอียด 

 

เวนคืนทั้งเส้น 

แหล่งข่าวจาก บริษัทเอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด ระบุผลการศึกษาเส้นทางมอเตอร์เวย์สายนครราชสีมา-ขอนแก่น ว่า เดือนมีนาคมนี้ จะส่งผลการศึกษาให้กับกรม
ทางหลวง โดยพบว่ามีการกีดขวางเส้นทางบริเวณเขตสัตว์ป่าสงวน และได้ประสานงานทำเรื่องการศึกษาวิจัยบริเวณพื้นที่เขตสัตว์ป่าสงวนเรียบร้อยแล้ว คาดว่าเมษายนนี้จะประชุมโครงการเส้นทางมอเตอร์ เวย์สายนครราชสีมา-ขอนแก่น ครั้งสุดท้ายก่อนทำEIA โดยแนวเส้นทางเริ่มต้นจากมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ผ่านอำเภอบัวใหญ่ อำเภอบ้านไผ่ ไปสิ้นสุดทางเลี่ยงเมืองขอนแก่น ขณะผลการศึกษามอเตอร์เวย์ ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ล่าสุดได้ออกแบบแล้วเสร็จ และเวนคืนตลอดทั้งแนว

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,552 วันที่ 27 - 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563