นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้โลกกำลังอยู่ในภาวะสงครามกับเชื้อโรคและน่าจะยืดเยื้อไม่ต่ำกว่า 2 ปี หลายประเทศทั่วโลกมีการใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ บางประเทศเกิดโรคระบาดใหม่ คือ โรคระบาดคอร์รัปชันงบประมาณและเงินช่วยเหลือของรัฐ ซึ่งประเทศเหล่านี้จะเผชิญกับปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลังแน่นอน ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว
ขณะนี้รัฐบาลจะเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 30-40% ในปีงบประมาณ 2564 ขณะเดียวกันต้องเพิ่มงบค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 35% ความเสี่ยงเรื่องวิกฤติฐานะทางการคลังเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทางออก คือ ต้องใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและไม่รั่วไหล จึงต้องหาระบบ กลไกและการดำเนินการที่ป้องกันการรั่วไหลและป้องปรามการทุจริตเพื่อให้ความช่วยเหลือตกถึงประชาชนและกิจการรายเล็กรายย่อย สงครามกับเชื้อโรคโควิด-19 (Covid-19) และโรคระบาดใหม่การทุจริตคอร์รัปชันครั้งนี้ต้องอาศัยพลเมืองผู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและมีความรักในเพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมชาติต้องร่วมกันเสียสละ
อย่างไรก็ดี ศึกนี้ไม่ต้องอาศัยปืนและกระสุน รถถังหรือเรือดำน้ำ สงครามนี้ไม่ต้องใช้กองทัพสู้รบ แต่อาศัยบุคลากรทางการแพทย์ผู้อุทิศตัวและประชาชนผู้มีวินัย เป็นสงครามไร้พรมแดน ฉะนั้นอย่าใช้แนวคิดชาตินิยมแบบคับแคบมาแก้ปัญหา สงครามที่ไม่มีข้อตกลงหยุดยิง แต่ต้องเร่งลงทุนวิจัยหาวัคซีนและยารักษาโรคให้ได้และกระจายให้เร็วที่สุดโดยเลิกคิดในกรอบความคิดทรัพย์สินทางปัญญาแบบทุนนิยมสุดโต่ง มาตรการ นโยบาย และโครงการของรัฐควรต้องมุ่งไปที่การบรรเทาความยากลำบากทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ขยายการลงทุน และปฏิรูปเศรษฐกิจให้เกิดความเป็นธรรมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น ตาม แนวทาง Relief, Recovery and Reform
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า โรคโควิด-19 และโรคระบาดคอร์รัปชันไม่มีความปราณี เป็นสิ่งที่ปราศจากความเมตตาพอกัน ไม่เลือกว่าจะเป็นเด็กหรือผู้หญิงหรือศาสนสถาน กองทัพนี้ไม่สนใจผลพวงความเสียหายจากการแพร่ระบาด มันไม่มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแต่มันจะทำให้เกิดภาวะความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมอันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงแบบอนาธิปไตยที่คาดการณ์อะไรไม่ได้เลย
“ขอให้ทุกท่านมีวินัยในการใช้ชีวิต เราทุกคนต้องยอมสละสิทธิเสรีภาพบางส่วนเพื่อความปลอดภัยของสาธารณชนขอให้ผู้มีอำนาจรัฐจำนวนหนึ่งหยุดฉ้อฉล หยุดโลภ ขอให้นักธุรกิจและเศรษฐีใหญ่ที่มีรายได้จากการค้าอบายมุขเสียสละรายได้บางส่วนที่ต้องสูญเสียไปบ้าง การจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มสร้างความมึนเมาควรจะเป็นกิจการสุดท้ายที่ผ่อนคลาย ตนยังไม่สามารถหาเหตุผลได้ว่าทำไมจึงผ่อนคลายก่อน คงต้องจินตนาการว่า มีการตัดสินใจแบบเอื้อประโยชน์กันโดยไม่เป็นไปตามหลักการสาธารณสุขอย่างแท้จริง”