รัฐบาลขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่และส่วนต่อขยายหลายเส้นทาง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เพื่อเปิดให้บริการให้ทันตามแผน อย่างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต จะเดินรถทั้งระบบภายในปีนี้
หลังจากส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินเปิดครบลูป อย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะโครงการใหม่อีก 2 เส้นทาง สายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร มูลค่า 1.2 แสนล้าน มีแผนประมูลภายในกลางปีนี้ เช่นเดียวกับสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร มูลค่า 1.24 แสนล้านบาท ล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เตรียมความพร้อมลงพื้นที่เวนคืน ครอบคลุมพื้นที่ตลอดแนว 102 ไร่ มีจุดขึ้น-ลง 17 สถานี ครอบคลุม กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี จุดเวนคืนใหญ่ อยู่ที่ด่านเก็บเงินสุขสวัสดิ์ ถนนกาญจนาภิเษก จะสร้างที่จอดรถ(เดโป้) 50 ไร่ มีประชาชนได้รับผลกระทบ แยกเป็นที่ดิน 410 แปลง บ้านเรือน 267 หลังคาเรือน งบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 124,959 ล้านบาท นั้น ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน (พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน) แล้ว จากนั้นจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษา โดยบริเวณที่จะเวนคืน มีทั้งหมด 11 แห่ง ประกอบด้วย เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธ์วงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ และอ.พระประแดง สมุทร ปราการ ทั้งนี้บริเวณที่ถูกเวนคืนที่ดินทั้ง 11 แห่ง จะให้อำนาจหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจพื้นที่เวนคืนที่ดินต่อไป
“หลังจากมีการสำรวจพื้นที่เวนคืนที่ดินแล้ว เราคาดว่าจะเริ่มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ในช่วงปลายปี 63 ขณะเดียวกันการประกวดราคา (ทีโออาร์) จะใช้ระยะเวลาประมาณ 9 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้”
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน (พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน) และ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิ์เข้าไปสำรวจบริเวณพื้นที่ที่จะเวนคืนที่ดิน เพื่อดำเนินการวางแผนและออกแบบโครงการดังกล่าว โดยมีระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ด้านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการพิจารณาตรวจร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน (พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน) และ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธ์วงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ และอ.พระประแดง สมุทรปราการ พ.ศ. …… เพื่อดำเนินการโครงการรถไฟสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เสร็จแล้ว โดยมีการแก้ไขเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาฯ รวมทั้งเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาเริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เพื่อสอดคล้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้อสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 นอกจากนี้มีการแก้ไขแบบร่างกฎหมายเล็กน้อย ซึ่ง รฟม.ได้มีหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมของพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับแล้ว
ทั้งนี้สำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ทั้ง 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงคมนาคมเคยเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นสำนักงบประมาณ จะดำเนินการจัดสรรแผนการใช้จ่ายเงินให้เหมาะสมแก่ รฟม. หลังจากร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,572 วันที่ 7-9 พฤษภาคม พ.ศ. 2563