การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนส่งมอบพื้นที่ ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.2 แสนล้าน ระยะทาง 220 กิโลเมตร เฟสแรกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ภายในวันที่ 1 มกราคม 2564 ให้กับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) หรือกลุ่ม CPH
ทั้งนี้ นอกจากผู้บุกรุกและผู้ถูกกระทบจากการเวนคืนแล้วยังมีผลกระทบการรื้อย้ายท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่ ของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) ในฐานะผู้เช่าที่ดินรฟท. ที่อยู่ในแนวเขตทางก่อสร้าง ไฮสปีดฯ ประมาณ 70 กิโลเมตร หากต้องรื้อย้าย หาพื้นที่วางท่อใหม่ เกรงว่าไม่ทันแผนส่งมอบพื้นที่ ทางออกต้องออกแบบเบี่ยงแนว หลบท่อส่งน้ำมัน เพิ่มต่อม่อ 76 ต้น โดยกลุ่มซีพีเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ประมาณ 200-300 ล้านบาท
ขณะเฟส 2 ช่วง พญาไท-ดอนเมือง ส่งมอบพื้นที่ วันที่ 1 มกราคม 2565 มีท่อส่งน้ำมันบริษัท ขนส่งนํ้ามันทางท่อ จำกัด (เอฟพีที) ต้องย้ายไปยังฝั่งตรงข้าม ค่าใช้จ่ายกว่า 100 ล้านบาท ส่วน ที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ ส่งมอบพื้นที่ได้พร้อมกับเฟสแรก ภายในวันที่ 1 มกราคม 2564
สำหรับการบังคับใช้ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืน พื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ - สนามบินอู่ตะเภา มีผลบังคับใช้ถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 5 เดือน นับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ วันที่ 18 ธันวาคม 2562
ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในท้องที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ขณะนี้อยู่ระหว่างปิดประกาศให้ผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ และสำรวจโฉนดที่ดินเพื่อชดเชยกรรมสิทธิ์
แหล่งข่าวจากรฟท.ยืนยันว่า การรื้อย้ายสาธารณูปโภค ไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด ที่น่าเป็นห่วงคือการเวนคืนหากยืดเยื้อมีการร้องศาลไม่ออกจากพื้นที่ เกรงว่าแผนส่งมอบพื้นที่อาจล่าช้าออกไป
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในส่วนการส่งมอบพื้นที่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นั้น ขณะนี้ติดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินการล่าช้า เบื้องต้นอยู่ระหว่างการรอคณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งคณะกรรมการเพื่อสรุปการเบิกจ่ายเงินของโครงการดังกล่าว
เนื่องจากมีการแก้ไขข้อมูลในระเบียบเพิ่มเติมให้อำนาจ รฟท.เป็นประธาน ตั้งคณะกรรมการส่งแผนทรัพย์สิน จากเดิมในระเบียบข้อกฎหมายระบุว่า การตั้งคณะกรรมการในการส่งแผนทรัพย์สินให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เป็นประธาน ทั้งนี้ รฟท.ได้พิจารณาการจ่ายค่าชดเชยสำหรับผู้บุกรุกพื้นที่ในโครงการฯ แล้ว ราว 200 ล้านบาท
ปัจจุบันมีการสำรวจพื้นที่เวนคืนแล้ว โดยมีพื้นที่เวนคืน ราว 931 แปลง คาดว่าจะเริ่มกระบวนการเวนคืนที่ดินภายในกลางปี 2563 หลังจากนั้นจะเริ่มจ่ายเงินชดเชยสำหรับการเวนคืนที่ดินภายในปลายปี 2563
ส่วนพื้นที่ที่กลุ่มซีพีมีการขอขยายเขตทางเวนคืนเพิ่ม 5 จุด นั้น ขณะนี้รฟท.ยังไม่ได้พิจารณาการให้เวนคืนที่ดินเพิ่มเติม เนื่องจากกระบวนการการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมใช้ระยะเวลานาน ทั้งนี้เราจะดำเนินการตามกระบวนการเวนคืนที่ดินตามแผนก่อน คาดว่าสามารถส่งมอบโครงการดังกล่าวให้กลุ่มซีพีได้ภายใน 2 ปี นับจากวันที่เซ็นสัญญา”
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,573 วันที่ 10-13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563