ทุนญี่ปุ่น หนีเสี่ยงจีน ทะลักไทย

24 พ.ค. 2563 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2563 | 04:02 น.

ไทยลุ้นทุนญี่ปุ่นทะลักรอบใหม่ หลังรัฐบาลแดนซามูไรเตรียมงบกว่า 7,000 ล้าน อุ้มย้ายฐานผลิตสู่อาเซียนลดเสี่ยงพึ่งพาจีน

การลงทุนภาคเอกชนเป็น 1 ในเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ไตรมาสแรกเครื่องสะดุดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ต้องสะดุดลง โดยข้อมูลจากบีโอไอช่วง 3 เดือนแรกปี 2563 มีต่างชาติขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 378 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3% และมีมูลค่าเงินลงทุน 71,380 ล้านบาท ลดลง 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดีสื่อญี่ปุ่นรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมออกโครงการให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทผู้ผลิตของญี่ปุ่นในการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานของญี่ปุ่นที่พึ่งพาจีนอย่างมากในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ขาดแคลนชิ้นส่วนที่ผลิตในจีนทำให้ห่วงโซ่อุปทานชะงัก โดยโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 23,500 ล้านเยน หรือราว 7,050 ล้านบาท สร้างความหวังไทยในการดึงการลงทุนจากญี่ปุ่นเพิ่ม

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้คุยกับนักลงทุนญี่ปุ่นหลายรายสนใจที่จะขยายหรือย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า และอื่นๆ จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.ต้นทุนการผลิตในจีนสูงขึ้น 2.มีความมั่นใจในการขยายธุรกิจในไทย จากมีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคต่างๆ มีการพัฒนาแรงงานฝีมือรองรับ รวมถึงไทยทำได้ดีในการควบคุมและแก้ปัญหาโควิด-19 สร้างความเชื่อมั่นแก่นักธุรกิจญี่ปุ่นที่สามารถนำครอบครัวเข้ามาพำนักในไทยได้

“ในอาเซียน ญี่ปุ่นสนใจลงทุนในไทยและเวียดนามเป็นหลัก นอกจากเขาพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้นแล้ว ยังมองเรื่องสิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอที่ไทยไปเจรจาตกลงไว้ รวมถึงการเตรียมเปิดเจรจาเอฟทีเอใหม่ ๆ เช่น ไทย-อียู ไทย-อังกฤษ เป็นต้น คาดหลังไทยปลดล็อกเรื่องการห้ามเครื่องบินเข้าประเทศถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 หากเปิดให้บินเข้าได้นักลงทุนจากญี่ปุ่น รวมถึงจากชาติอื่นจะเข้ามาติดต่อดูลู่ทางการลงทุนในไทย ซึ่งหลายรายติดต่อมา เขาบอกมาแน่”

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นคุ้นเคยกับการลงทุนในไทยเป็นอย่างดี หากสถานการณ์โควิดคลี่คลายไทยจะได้อานิสงส์เพิ่ม ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ บีโอไอ และเอกชนคงต้องช่วยกันชักชวน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นยังคงมากเป็นอันดับ 1 มี 49 โครงการ เงินลงทุนรวม 7,402 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 27% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, กิจการผลิตผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนโลหะ,กิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและสำนักงานสนับสนุนการค้าและการลงทุน, กิจการกำจัดของเสียและรีไซเคิล, กิจการผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติก และอื่นๆ ที่ตั้งของโครงการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)

“แนวโน้มช่วงครึ่งหลังของปี 2563 หากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ภาพการเคลื่อนย้ายการลงทุนรอบใหม่จะปรากฏชัดเจนขึ้น โดยจะมีการย้ายฐานการผลิตระลอกใหญ่จากบริษัทจีนและบริษัทต่างชาติที่จะย้ายออกจากจีนเพื่อลดความเสี่ยง อันเนื่องจากปัญหา Supply Chain Disruption ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา เป็นโอกาสของไทยที่ต้องช่วงชิงคลื่นการลงทุนครั้งนี้ให้ได้”

ล่าสุดเตรียมออกแคมเปญใหม่เน้นประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ด้านการลงทุนของประเทศไทย ผ่านสื่อชั้นนำในประเทศเป้าหมาย เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3577 วันที่ 24-27 พฤษภาคม 2563