รื้อแผนแม่บท “มอเตอร์เวย์”
ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ปรับปรุงแผนแม่บทในการออกแบบและก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ระยะทาง 6.6 พันกิโลเมตร เพื่อบูรณาการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารถไฟทางคู่ ขณะนี้ ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงคมนาคม ทำงานร่วมกัน โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ออกแบบในการปรับปรุงแผนดังกล่าว หากดำเนินการได้ ไทยจะเป็นศูนย์กลางอาเซียน ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนในอนาคต
“แผนแม่บทมอเตอร์เวย์ จะเป็นเส้นทางคู่ขนานกับรถไฟทางคู่ โดยแนวเส้นทางที่น่าจะเกิดขึ้นได้ เช่น รถไฟทางคู่ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ทั้งนี้จะนำโครงการมอเตอร์เวย์ไปประกบกับรถไฟทางคู่ ที่อาจไม่คู่ขนานกันตลอดแนวเส้นทาง เนื่องจากบางเส้นทางต้องหลบชุมชน ขณะเดียวกันได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาต้นทุนในการก่อสร้างต่ำที่สุด เพื่อทำให้การคิดค่าบริการที่ถูกลง รวมถึงเวนคืนที่ดินน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน”
ผุดไอเดีย ดึงเอกชนร่วม PPP
ขณะเดียวกันมีแนวคิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เนื่องจากการปรับปรุงแผนแม่บทดังกล่าวจำเป็นต้องใช้งบประมาณการลงทุนที่มีมูลค่าสูง หากโครงการส่วนใดมีการบูรณาการและออกแบบแล้วเสร็จ จะเริ่มทยอยเปิดประมูลเพื่อก่อสร้างทันที สำหรับงบประมาณเพื่อลงทุนปรับปรุงแผนฯ นั้น จะใช้เงินกองทุนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี เนื่องจากตามแผนแม่บทในการปรับปรุงทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ในปัจจุบันสามารถดำเนินการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ได้เพียง 200 - 300 กิโลเมตร เท่านั้น ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมีวิธีคิดระบบพีพีพี เพื่อดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้สิทธิร่วมลงทุนก่อน หากผู้ประกอบการไทยเต็มกำลังความสามารถแล้ว หลังจากนั้นจะเปิดให้โอกาสให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน
หนุนเก็บค่าผ่านทาง ระบบ M Flow
ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีระบบเก็บเงินค่าผ่านทางหลายระบบ เช่น ด่านเก็บเงินสด ด่านเก็บเงินกึ่งอัตโนมัติ ทำให้กระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะบูรณาการร่วมกับการใช้เทคโนโลยีแบบ AI เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการจ่ายค่าผ่านทาง ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ศึกษาการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อจัดทำระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโมมัติ (M Flow) ซึ่งเป็นระบบ Single platform system
เบื้องต้นเป็นการใช้ระบบกล้องที่สามารถตรวจจับความเร็วรถถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อบันทึกข้อมูลทะเบียนรถที่เดินทางผ่านด่านมอเตอร์เวย์ โดยรถที่ผ่านด่านนั้นๆ สามารถวิ่งผ่านด่านได้ โดยไม่ต้องจอดรถหรือชะลอรถเพื่อจ่ายค่าผ่านทาง ขณะเดียวกันระบบจะประมวลผลและคำนวณค่าผ่านทางเพื่อเรียกเก็บเงินภายหลังสิ้นเดือน (Postpaid) ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้จะขยายผลการศึกษาดังกล่าวไปถึงโครงการต่างๆ ของกรมทางหลวง (ทล.) และ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาดูว่าในอนาคตกรมทางหลวง (ทล.) จะผลักดันเมกะโปรเจ็กต์มอเตอร์เวย์ควบคู่กับรถไฟทางคู่ได้หรือไม่ ถือเป็นภารกิจหนักที่กรมทางหลวงต้องเร่งดำเนินการเพื่อพิสูจน์ว่าไทยเป็นศูนย์ กลางในภูมิภาคอาเซียนได้ เช่นกัน
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,578 วันที่ 28-30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563