“ชาญทัวร์” ซ้ำควักค่าปรับเรือนหมื่น จ่ายค่าโขกตั๋วหลักพัน  

07 มิ.ย. 2563 | 02:03 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2563 | 11:58 น.

สั่งปรับแล้ว10,000 บาท “ชาญทัวร์” ลักไก่โขกค่าตั๋วมหาโหด1,300 จากขอนแก่นไปสุราษฏร์ฯ  สูงกว่าปกติ2เท่า ขณะคมนาคม อยู่ระหว่าง ถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง-เอกชน ใช้พรก.เงินกู้4แสนล้าน เยียวยา

 

 

 

 

 

     

 

 

คลายล็อกรถโดยสารประจำทางสาธารณะเดินทางข้ามจังหวัดได้ทุกเส้นทาง  แต่ทั้งนี้ มาตราการป้องกันการระบาดไวรัสโคโรนาหรือโควิด ของรัฐยังคงเข้มข้น โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ส่งผลให้ บริษัทเอกชนบางรายลักไก่ เรียกเก็บค่าโดยสารตามอำเภอใจ ซึ่งการเก็บค่าตั๋วมหาโหดครั้งนี้ เกิดขึ้นที่สำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่น โดยบริษัทชาญทัวร์ รถทัวร์ เส้นทางนครพนม-สุราษฏร์ธานี  ขายตั๋วโดยสารในราคา 1,300 บาท ล่าสุด ได้ถูกสั่งปรับ ไปแล้ว 10,000 บาท หลังจาก มีการร้องเรียนเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เนื่องจาก ก่อนหน้าเคยมีผู้โดยสารร้องเรียนมาแล้วครั้งหนึ่ง และยังไม่รวม แทกซี่สาธารณะ ที่เรียก เก็บค่าโดยสาร จากสถานีขนส่งหมอชิตไปยังสมุทรปราการ ในลักษณะเหมาจ่าย กว่า1,000 บาท ส่งผลให้กรมการขนส่งต้องสั่งปรับ มองว่า การกระทำครั้งนี้ได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจาก ต้องเสียค่าปรับ สูงหลายเท่า  

สำหรับ ผู้โดยสารที่ร้องเรียนรายล่าสุด  ใช้นามว่า ใหม่ศิริ ธรรมกิจ ร้องเรียนผ่านเฟสบุ๊ค เพจ"กลุ่มขอนแก่นมีด่านบอกด้วย" เรื่อง ขอความเป็นธรรมกรณีมารดาซื้อตั๋วรถทัวร์ไปหัวหิน ราคา 1,300 บาท โดยมีผู้โดยสารนั่งเต็มทุกที่นั่ง เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและไม่มีมาตรการเว้นเบาะที่นั่ง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก โดยสำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่น ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้ว พบดังนี้

       1.ผู้ร้องได้ซื้อตั๋วรถทัวร์ คันหมายเลขทะเบียน 10-8330 ขอนแก่น ม.4 ข. (36 ที่นั่ง) ของบริษัทชาญทัวร์จำกัด(รถร่วมบริษัทขนส่ง) สายที่ 837 นครพนม - นครศรีธรรมราช ในราคา 1,300 บาท เพื่อเดินทางไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยรถออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่น แห่งที่ 3 วันที่ 6 มิถุนายน 2563 เวลา 06.30 น.

       2.จากการตรวจสอบเรื่องอัตราค่าโดยสาร พบว่า ผู้ประกอบการได้เรียกเก็บค่าโดยสารเกินกว่าอัตราที่ทางราชการกำหนด จึงได้เปรียบเทียบปรับเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท

        3.สำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่น ได้กำชับ ผู้ประกอบการให้จำหน่ายค่าโดยสารให้เป็นไปตามอัตราที่ทางราชการกำหนด พร้อมทั้ง ให้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมโดยเคร่งครัด หากฝ่าฝืนจะพิจารณาลงโทษตามกฎหมายในอัตราโทษขั้นสูงสุดต่อไป

 

 

 

 

 สำหรับมาตราการชดเชยเยียวยา ผู้สื่อข่าว"ฐานเศรษฐกิจ"รายงานว่า กระทรวงคมนาคม ได้ ประชุม 7 หน่วยงาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ เสนอ มีวงเงินรวม 7,697 ล้านบาท ประกอบด้วย  กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงิน 4,773 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเหลือชดเชยผู้ประกอบการในเที่ยววิ่ง 30% ของจำนวนที่นั่งและราคาค่าโดยสารที่ต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างของเดือน พ.ค.-ก.ค.63 และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการเดินรถโดยสารไม่ประจำทางคันๆ ละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (มี.ค.- พ.ค.63) จากจำนวนผู้ได้รับอนุญาต 42,273 ราย

 

 

ขณะที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 614 ล้านบาท โดยเป็นเงินสนับสนุนจากการที่รายได้ค่าโดยสารลดลง และจัดเก็บค่าตอบแทนตามสัญญาการเดินรถ และค่าใบเที่ยวรถมินิบัส โดยจัดเก็บ 25%และพักการชำระหนี้ 6 เดือน ,จัดเก็บค่าเช่า 25% สำหรับผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่โฆษณาบนรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.,จัดเก็บค่าเช่า 25% สำหรับผู้เช่าพื้นที่ ขสมก.เป็นระยะเวลา 6 เดือน และงดเก็บค่าเช่าสำหรับผู้เช่าพื้นที่ที่ถูกสั่งปิดตามประกาศกรุงเทพฯและรัฐบาล, บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) รวม 800 ล้านบาท เป็นการชดเชยรายได้ค่าโดยสารและรายได้ค่าชนส่งพัสดุภัณฑ์ ,ชดเชยรายได้จากการเดินรถร่วมและชดเชยรายได้ค่าเช่าพื้นที่ภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร

 

ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 627 ล้านบาท เป็นเงินชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการงดเดินขบวนรถโดยสารเชิงพาณิชย์ เดือนเม.ย.-มิ.ย.63 , การปรับลดค่าเช่า50% ของค่าเช่าต่อเดือนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และการปรับลดค่าเช่า 30%

 

อย่างไรก็ตามผู้ได้รับผลกระทบโดยอ้อม(เม.ย.-มิ.ย.63), กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 862 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนเงินเข้ากองทุนหมุนเวียนของ ทย.ประกอบด้วย การชดเชยรายรับที่ลดลง และเงินสดคงเหลือเพื่อสภาพคล่องรวม, กรมเจ้าท่า (จท.) วงเงิน 5.5 ล้านบาท ชดเชยที่ได้รับผลดกระทบจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมให้แก่ผู้ประกอบการเรือคลองแสนแสบ และบริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (รทส.) วงเงิน 13 ล้านบาท สนับสนุนงบประมาณ50%ของผลประกอบการที่ขาดทุนช่วงเดือนเม.ย.63 และประมาณการขาดทุนช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย.63

 

 

ทั้งนี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมว่า  ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ได้นำเสนอกรอบวงเงินตามมาตรการที่เข้าข่ายลักษณะแผนงานโครงการตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ซึ่งขณะนี้ยังเสนอเข้ามาไม่ครบทุกหน่วยงาน เบื้องต้นมอบให้แต่ละหน่วยงานไปตรวจสอบเงื่อนไข เงื่อนเวลา รวมถึงตัวเลขงบประมาณที่เสนอให้ชัดเจน และกลับมานำเสนอที่ประชุมอีกครั้ง