44 ปีแบกหนี้ 1.2 แสนล้าน เร่งไขก๊อก แผนฟื้นฟู ขสมก.

13 มิ.ย. 2563 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2563 | 12:33 น.

1 ใน 4 ของรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม อย่าง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ    ขสมก.ซึ่งเป็นรายล่าสุดที่ต้องเร่งปรับปรุงแผนฟื้นฟูให้ ขสมก.กลับมามีกำไรและไม่ขาดทุน หากไม่เร่งดำเนินการอาจเข้าสู่กระบวนการศาลตามบริษัทการบินไทยก็เป็นได้

สะท้อนจากตั้งแต่ปี 2519 ขสมก.ขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดปี 2563 ขาดทุนเฉลี่ย 360 ล้านบาทต่อเดือน โดยเป็นดอกเบี้ย 233 ล้านบาท ส่งผลให้มีภาระหนี้และดอกเบี้ยจ่ายสูง หากปล่อยระยะเวลาออกไป จะทำให้ ขสมก.มีหนี้สินเพิ่มขึ้นขณะปัจจุบัน ขสมก.มีภาระหนี้สินรวมอยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

ปัญหาหนี้ท่วม

การทำแผนฟื้นฟูในครั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เป็นการปรับปรุงจากแผนเดิม ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เคยอนุมัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ได้พิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 1.สถานะทางการเงินขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งแต่ละเดือนขาดทุนจำนวน 360 ล้านบาท 2.สภาพของรถโดยสาร ปัจจุบันรถที่ ขสมก.ใช้ เป็นทรัพย์สินของ ขสมก.เอง ซึ่งมีอายุมากกว่า 20 ปี มีสภาพเก่าและทรุดโทรม คาดว่าอีกประมาณ 3 ปี รถเหล่านี้จะไม่มีอะไหล่ซ่อม เนื่องจากบริษัทรถเลิกผลิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาเช่นกัน

ขณะที่โครงสร้างองค์กรมีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพนักงานที่มีจำนวนมาก ซึ่งจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับแผนบุคคลเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาของ ขสมก. 4.ต้นทุนการดำเนินงานสูง และ 5.การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของโลกพัฒนาไปมาก ดังนั้นจะต้องมีการใช้เทคโนโลยีมาตรวจสอบการดำเนินงาน เดินรถของ ขสมก.ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ได้สั่ง การสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)พิจารณาต่อเนื่อง ซึ่งการปรับปรุงแผนฟื้นฟู ขสมก.ฉบับนี้ จะทำให้รัฐต้องแบกรับภาระหนี้สินทั้งหมดของ ขสมก. เพิ่มขึ้น จำนวน 127,786.109 ล้านบาท จากเดิม ที่มีมูลหนี้ จำนวน 118,183.234 ล้านบาท

44 ปีแบกหนี้ 1.2 แสนล้าน เร่งไขก๊อก แผนฟื้นฟู ขสมก.

 

ลุยพัฒนาพื้นที่อู่บางเขน-มีนบุรี

สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 62 นั้น เบื้องต้นการปรับปรุงแผนฯ ดังกล่าว เป็นการพัฒนาพื้นที่โดยให้เอกชนร่วมลงทุน เพื่อเป็นรายได้เพิ่มให้ ขสมก.ทั้งนี้ได้พิจารณาใหม่ทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ อู่บางเขน เนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 93 ตร.ว. และอู่มีนบุรี 10 ไร่ 28 ตร.ว. เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีรายได้ 40 ล้านบาท หากมีการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง จะมีศักยภาพพร้อมทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้มากกว่า 40 ล้านบาท

ดึงเอกชนร่วมทุน

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า เบื้องต้น ขสมก.ได้ศึกษารูปแบบทีโออาร์ที่จะเปิดประมูลจัดหาเอกชนมารับจ้างเดินรถ โดยจะแบ่งออกเป็น 3-4 สัญญา ตามโครงสร้างของเส้นทางที่สอดคล้องกัน เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนได้แข่งขันมากขึ้น ซึ่งเอกชนรายใดที่เสนอราคาค่าเช่าต่ำสุด จะเป็นผู้ชนะการประมูล

โดยยกตัวอย่างเช่น ขสมก.มีการกำหนดราคากลางตามการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) เฉลี่ยระยะทางที่รถโดยสารแต่ละเส้นทางจะให้บริการอยู่ที่ 240 กิโลเมตร ต้นทุนเดิมของ ขสมก.วิ่งตามระยะทางมีต้นทุนอยู่ที่ 50 บาท ดังนั้นเอกชนต้องเสนอราคาต่ำกว่า 50 บาท เช่น เอกชนเสนอต้นทุน 20 บาทต่อกิโลเมตร ขสมก.จะต้องใช้งบประมาณจ้างเอกชนราว 4,000 ล้านบาทต่อปี

หลังจากนี้คงต้องจับตาดูแผนฟื้นฟู ขสมก.ฉบับใหม่ จะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ หากสามารถแก้ปัญหาได้ตามแผนจะทำให้     ขสมก.กลับมามีกำไรต่อเนื่องอย่างแน่นอน

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11-13  มิถุนายน พ.ศ. 2563

44 ปีแบกหนี้ 1.2 แสนล้าน เร่งไขก๊อก แผนฟื้นฟู ขสมก.