ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ กระบวนการสร้างความรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อ 6 มิ.ย. 2563 ที่ห้องคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมบุรีศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
มีตัวแทนจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จังหวัดสงขลา และตัวแทนจากส่วนราชการ ภาคประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมประมาณ 200 คน โดยมีการนำเสนอแผนงานการลงทุนของภาคเอกชน ที่มีความประสงค์ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ 2 ราย คือ บริษัททีพีไอโพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
นายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า วันนี้ได้ข้อมูลเพิ่มว่ามีเอกชน 2 รายจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ บริษัทให้ข้อมูลว่า อย่างน้อยจะมีการจ้างงานในแผนงานประมาณ 3,000 คน และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกประมาณ 10,000 กว่าคน เท่ากับว่ามีเมืองใหม่ย่อมๆ เกิดขึ้นอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งจะมีผลต่อทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากจะมีการสะพัดของเงินที่เกิดจากการใช้จ่ายในพื้นที่
แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งที่แสดงความไม่เห็นด้วย กับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ ซึ่งอาจจะเกิดจากการับรู้ข้อมูลยังไม่ครบถ้วน ส่วนคนที่มารับฟังก็ได้ข้อมูลระดับหนึ่ง ไม่ได้บอกว่าจะเห็นภาพทั้งหมด อยากฝากเจ้าภาพเรื่องนี้คือ ต้องทำให้ทุกฝ่ายทุกส่วนได้รับทราบข้อมูลเดียวกัน ทั่วถึง ครบถ้วน และมองเห็นภาพที่ชัดเจนของการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่หมกเม็ด ไม่ปิดบัง และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของประชาชน และองค์กรเอกชน
“โดยส่วนตัวและในนามของหอการค้าจังหวัดสงขลา ยินดีที่ใครก็ตามจะมาลงทุนในจังหวัด เพราะถือว่าเป็นการทำให้จังหวัดเรามีการพัฒนาเพิ่มขึ้น แต่ก็จะต้องไม่มีผลกระทบ หรือมีผลกระทบน้อยที่สุดต่อมลภาวะ และไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในพื้นที่”
เช่นกันนายมานะ ศรีพิทักษ์ ประธานบริษัท สงขลาพัฒนาเมือง จำกัด และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) จังหวัดสงขลา กล่าวว่า โอกาสที่จะเกิดมีมาก แต่การที่ทำเขตเศรษฐกิจพิเศษจะนะให้เกิดขึ้นได้รัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีเอกชนรายใหญ่เข้าไปกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากไว้ล่วงหน้า นักลงทุนสนใจแต่เข้าไปไม่ได้ และอย่าให้ราคาที่ดินสูงกว่าราคาไร่ละ 1 ล้านบาท
“ถ้าเป็นไปได้รัฐควรจะต้องเข้ามาจัดสรที่ดินเอง อาจจะเวนคืนที่ดินประมาณสัก 1 แสนไร่ เพื่อทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วรัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้ครบ”
สำหรับอ.จะนะ ในแง่ของพื้นที่นั้นดีอยู่แล้ว เนื่องจากอยู่ใกล้กับท่าเทียบเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 และใกล้กับด่านฯประกอบ อ.นาทวี และใกล้กับสนามบินหาดใหญ่ รวมถึงมีเมืองบริวารที่จะรองรับเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก หาดใหญ่ เมืองสงขลา
อุตสาหกรรมหลายๆ อย่างสามารถทำได้ เช่น อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นแหล่งอาหาร โดยมองการทำตลาดไปในระดับโลก เนื่องจากสงขลาเป็นฐานการผลิตสำคัญของอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารกระป๋อง อยู่แล้ว และจากการรับฟังข้อมูล อุตสาหกรรมหนักก็ยังมีโอกาส อาทิ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงาน หัวรถจักร และตู้คอนเทนเนอร์
“ส่วนตัวเห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะถ้ามีการลงทุนก็ดีทั้งนั้น เพราะจะมีการจ้างงานเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ที่กังวลก็มีประเด็นเดียวคือเรื่องแรงงาน เนื่องจากแรงงานในพื้นที่มีอยู่เชื่อว่าไม่เพียงพอ ต้องบริหารจัดการในการนำแรง งานนอกพื้นที่เข้ามา” ประธานบริษัทสงขลาพัฒนาเมือง จำกัด กล่าว
ด้าน ดร.ไพโรจน์ ชัยจีระธิกุล อุปนายกสมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี จะเป็นศูนย์กลางความเจริญใหม่ของจังหวัดสงขลาและของภาคใต้ การพัฒนาสงขลาหยุดชะงักไปในช่วงที่ผ่านมา จากการปรับเปลี่ยนกลุ่มจังหวัด ทำให้ได้รับการจัดสรรงบน้อยลง ยิ่งมาเจอโควิด-19 เศรษฐกิจสงขลายิ่งซบเซา ยังไม่เห็นว่าจะมีโครงการหรือทิศทางไหน ที่จะทำให้จังหวัดสงขลากลับมายืนได้ด้วยตัวเองได้
“เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ เป็นโครงการที่ผมมองว่าจะเป็นศูนย์กลางความเจริญใหม่ ซึ่งจะต้องดูเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมไปด้วย ผมเป็นคนหาดใหญ่ ถ้าจะนะมีมลพิษคนหาดใหญ่ก็จะได้รับมลพิษด้วย ฉะนั้นสิ่งไหนที่เราจะได้รับผลกระทบ เราก็ต้องให้ข้อมูลกับผู้บริหารจัดการโครงการ”
ทั้งนี้ทุกฝ่ายต่างหวังดีต่อประเทศชาติ ทั้งคนที่เข้ารับฟังข้อมูล คนที่เสนอโครงการ รวมไปถึงคนที่เห็นต่าง เราจะต้องทำเวทีกลางเพื่อให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อเท็จจริง ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน แทนที่จะต่างคนต่างเดิน ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งต้องร่วมมือ ทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อใจซึ่งกันและกัน สร้างพื้นที่ที่มีความเห็นร่วมกันและเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ ในพื้นที่
“สิ่งดีๆที่จะเกิดขึ้นในบ้านเรายังมีอีกมาก เนื่องจากที่ตั้งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เป็นพื้นที่ๆจุดยุทธศาสตร์ของโลก โดยเฉพาะด้านการขนส่ง และการเดินทาง ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้น แล้วจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองหาดใหญ่ กระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้และประเทศไทย” อุปนายกสมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ กล่าว
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,583 วันที่ 14 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563