แม้มีหลายโครงการเมกะโปรเจคต์ที่รัฐพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ โครงการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อรถไฟทางคู่ แต่ 1 ในนั้นคงหนีไม่พ้น “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและ เมืองการบินภาคตะวันออก” ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นโครงการที่เอกชนต่างให้ความสนใจพร้อมที่จะร่วมลงทุน
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์(BTS) กล่าวว่า บีทีเอสเตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และแผนในการสร้าง ระบบเชื่อมต่อการเดินทางภายในสนามบินโดยใช้ระบบ APM ให้เชื่อมต่อออกไปยังระบบขนส่งสาธารณะทุกระบบ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็งสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งโครงการนี้ ไม่ได้มีเพียงสนามบิน แต่ยังมี ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน โดยเฉพาะเมืองการบิน และพื้นที่ การค้าเสรี (Free Trade Zone) ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีความท้าทายและสามารถสร้างมูลค่าให้กับโครงการจึงทำให้มั่นใจ ได้ว่าผลตอบแทนที่เสนอให้รัฐ เป็นตัวเลขที่มีพื้นฐานจาก ข้อเท็จจริง
3 ค่ายจับมือ ร่วมทุน
สำหรับเมืองการบินถือเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย หากดำเนินการได้สำเร็จจะทำให้โครงการดังกล่าวกลายเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 ของไทย ขณะเดียวกันได้ตัดสินใจร่วมลงทุนโครงการฯ เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายบริษัทที่ชวนมาลงทุน จนได้พูดคุยกับหมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถึงความจำเป็นของสนามบินนี้ที่จะต้องเกิดขึ้น ทำให้ตัดสินใจเดินหน้า เพราะ เล็งเห็นว่าโครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดี
รวมถึงบางกอกแอร์เวย์ส ถือเป็นบริษัทเดียวที่ทำธุรกิจนี้เป็นรูปร่างแบบจริงจัง และมีบมจ.ซิโน-ไทย ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับบีทีเอส เกือบทุกโครงการในการลงทุน ทำให้บีทีเอสดึงเข้ามาร่วมลงทุนสนามบินอู่ตะเภาด้วยเช่นกัน
รัฐได้ 1.326 ล้านล.
ที่ผ่านมา บีทีเอสวิเคราะห์อย่างรอบคอบ โดยเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด ซึ่งเสนอราคาที่เป็นจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปีตลอดอายุสัญญาร่วมทุน หากคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน ณ ปี 2561 โดยใช้อัตราคิดร้อยละ 3.76 เป็นจำนวน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปีในระยะ 5 ปีแรกของสัมปทาน
“ที่ผ่านมาเราชนะการประมูลของโครงการฯ ซึ่งเราตัดสินใจไม่ผิดที่ร่วมลงทุนในโครงการนี้ ในอัตราผลตอบแทนแก่รัฐที่ประมูลกว่า 3 แสนล้านบาท “ หากคิดตามส่วนลดรายได้ในอนาคต ในแต่ละปีกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Discount rate) ที่ 7% จะได้ผลตอบแทนแค่ 1แสนล้านบาท เท่านั้น แต่เงื่อนไขของทีโออาร์กำหนดให้ อยู่ที่ 3.25% ตัวเลขจึงเพิ่มขึ้น โดยรัฐได้กำหนดการลงทุนในการก่อสร้างแบบขั้นบันได เริ่มต้นที่ 40,000 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นจะขยายการลงทุนต่อเนื่องจนถึง ปีที่ 50 ทำให้รัฐได้ผลประโยชน์ตอบแทน ถึง 1.326 ล้านล้านบาท
อีกทั้งมีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร การเงิน และใช้เวลาเจรจารวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเพียง 47 วัน เมื่อเทียบกับโครงการอื่นของรัฐ”
ดึงไทย-เทศลงทุน
เจ้าสัวคีรีย้ำว่า มีความพร้อมให้เอกชนทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมลงทุนพื้นที่การค้าเสรี, อาคารคลังสินค้า, โรงแรม, โรงเรียนศูนย์แสดงสินค้า ด้านการดำเนินกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์และส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการบินของโครงการฯ ประกอบด้วย ศูนย์การค้า กว่า 4แสนตร.ม. จัดเป็นโซนร้านค้าปลอดภาษี ร้านค้าและภัตตาคาร รวมถึงแอร์พอร์ตซิตี้ และ พื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร ประกอบด้วยการพัฒนา ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า อาคารพักอาศัยและอาคารสำนักงาน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม แม้โควิด-19 อาจยืดเยื้อไปถึงครึ่งปีแรกของปี 2564 มองว่าไม่กระทบ มั่นใจว่าจะเปิดให้บริการสนามบินอู่ตะเภาได้ภายในปี 2568
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,587 วันที่ 28 มิถุนายน- 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563