ลุยไฮสปีด เฟส 2 บูมระยอง-จันทบุรี-ตราด

24 ก.ค. 2563 | 07:44 น.

รฟท.เผยจัดมาร์เก็ตซาวดิ้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เฟส 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด หนุนผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ 5.39% จ่อดึงเอกชนร่วมทุนพีพีพีในปี 2567

นายสุชีพ    สุขสว่าง  วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง  การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า  สำหรับการประชุมเพื่อประเมินความสนใจเบื้องต้นของภาคเอกชน (มาร์เก็ต​ ซาวดิ้ง​) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด  ขณะนี้ทาง รฟท.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจ สังคม การเงิน แนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ออกแบบและประมาณราคาค่าก่อสร้างเบื้องต้น และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในโครงการดังกล่าว เพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการเดินทางและการขนส่งสินค้า​ในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เฟส 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด มีจุดเริ่มต้นของการเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 ฝั่งตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภาผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยอง  ตั้งอยู่บนถนนทางหลวงหมายเลข 3574 (ระยอง-บ้านค่าย)​ ห่างจากสี่แยกเกาะกลอยประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าสู่อำเภอแกลงเข้าสู่สถานีเกลงซึ่งตั้งอยู่บนถนนทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง)​ ห่างจากสามแยกแกลงประมาณ 2 กิโลเมตร  วิ่งตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่บางช่วง  ผ่านอำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ เข้าสู่สถานีจันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่ บริเวณแยกเขาไร่ยา อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เข้าอำเภอเขาสมิง และมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีตราด ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคบนทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท)​ ห่างจากสามแยกตราดประมาณ 2 กิโลเมตร  รวมเส้นทางประมาณ 190 กิโลเมตร

 

อ่านข่าว รฟท.ลุยไฮสปีด‘อีสาน-อีอีซี’3แสนล้าน

อ่านข่าว นิคมกรีนอุดรฯ เล็งดึงทุนญี่ปุ่น-จีน รับไฮสปีด-ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน

ขณะเดียวกันจากผลการศึกษาพาก่อสร้างสถานีระยองแกลง จันทบุรีและตราด แล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการภายในปี 2571 จะมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 5.39% ส่วนรูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้นเบื้องต้นจะเสนอรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและ เอกชนแบบ ppp Net cost โดยเสนอเป็น 3 แนวทางเลือกคือแบบที่ 1 ประชาชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดทั้งงานโยธางานระบบขบวนรถและงาน (Operation&Maintenance) โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน แบบที่ 2 เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานเฉพาะงานระบบและตัวรถ (Operation&Maintenance) โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดินและงานโยธา และแบบที่ 3 เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเฉพาะงาน (Operation&Maintenance) โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน งานโยธา งานระบบ และขบวนรถ

ทั้งนี้คาดว่าหลังจากเปิดให้บริการภายในปี 2571 อัตราค่าโดยสาร อยู่ที่ 95 บาท (ค่าแรกเข้า)  +2.1 บาทต่อกิโลเมตร   ส่วนแผนการดำเนินโครงการ จะศึกษาเบื้องต้นแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2563  หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ พิจารณาอนุมัติภายในปี 2564 และจัดเตรียมเอกสารการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (พีพีพี)​ ภายในปี 2565 และหาผู้ลงทุนออกแบบและก่อสร้าง ภายในปี 2567 รวมทั้งทดสอบระบบ ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในปี 2571