‘PRM’ขยาย ลงทุน" แหลมฉบัง เฟส3 " - เพิ่มเรือ  2  ลำ

16 ส.ค. 2563 | 03:45 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2563 | 10:41 น.

"PRM" กำไรพุ่ง ขยายลงทุนต่อเนื่องหลังกำไรครึ่งปีแรกพุ่ง  ผนึกพันธมิตรจีนเซ็นสัญญา การท่าเรือ ลุย แหลมฉบังเฟส 3 ในอีอีซี มั่นใจทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ขับเคลื่อนต่อ พร้อมลงทุนเรือเพิ่ม 2 ลำ  

สร้างผลการดำเนินงานเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ขยายการลงทุน คว้าประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี สำหรับบริษัท พริมา มารีน จำกัด(มหาชน) หรือ (PRM) ผู้ให้บริการขนส่ง จัดเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีเหลวทางเรือรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย  หลังผลประกอบการไตรมาส 2/63 ทำกำไรสุทธิพุ่งถึง 491.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รับธุรกิจกลุ่มเรือขนส่งและกักเก็บปิโตรเลียมกลางทะเล (FSU) เก็บเกี่ยวรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และมีอัตราการใช้บริการเต็ม 100%

ขณะกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศมีการบริหารจัดการที่ดี สามารถรักษาอัตราการใช้เรือได้กว่า 90% สวนกระแสวิกฤติโควิด-19 ส่งผลดีต่อภาพรวมครึ่งปีแรก ทำกำไรสุทธิสูงถึง 786.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.6% และครึ่งปีหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ธุรกิจได้รับการปลดล็อก ผู้คนจับจ่ายเกิดการใช้น้ำมันจากการเดินทางท่องเที่ยว  ดังนั้น จึงมีแผนขยายธุรกิจต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ นายพร้อมพงษ์  ชัยศรีสวัสดิ์สุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  PRM  ระบุว่า  ไตรมาสที่ 2 บริษัททำนิวไฮสร้างผลกำไรร้อนแรงสวนทางโควิดสะท้อนความแข็งแกร่ง การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดต้นทุน ขณะเดียวกันได้ขยายลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ก่อสร้างโครงการท่าเรือ แหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่า 21,320 ล้านบาท ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ที่บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ PRM มีส่วนร่วมในกลุ่มธุรกิจร่วมค้าซีเอ็นเอ็นซี ในสัดส่วน 10% โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการงานก่อสร้างงานทางทะเล คาดว่าจะเซ็นสัญญากับกทท.ได้ในไม่ช้านี้ หาก ไม่มีผู้คัดค้าน

‘PRM’ขยาย ลงทุน\" แหลมฉบัง เฟส3 \" -  เพิ่มเรือ  2  ลำ

สำหรับเหตุผลที่ลงทุนร่วมภาครัฐ ในท่าเรือแหลมฉบัง นายพร้อมพงษ์ สะท้อนว่า บริษัทสนใจ ขยายการลงทุนไปในโลจิสติกส์ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ทั้งท่าเรือ  คลังน้ำมัน ขณะเดียวกัน บริษัทมีทีมงานที่ชำนาญด้านท่าเรือ โปรเจ็กต์ใน อีอีซี  

ที่สำคัญ บริษัทมีพันธมิตรที่ดีจากประเทศจีน JV-CNNC   ที่มีความรู้ความชำนาญด้านการก่อสร้างท่าเรือ บริษัท จงก่าง คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัด (ZGCG) สัญชาติจีน ถือหุ้น 49% ก่อตั้งเมื่อปี 2534 ทุนจดทะเบียน 10,061 ล้านบาท มีประสบการณ์ในการขุดลอกและงานถมทะเล 4 โครงการมูลค่าโครงการรวมกว่า 15,584 ล้านบาท มีเรือขุดเอง 1 ลำและเช่าซื้อ 2 ลำ รวม 3 ลำ 

ขณะที่ บริษัท นทลีนกรุ๊ป จำกัด (NAT) สัญญชาติไทย ถือหุ้น 41% ซึ่งมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมขนส่งน้ำมันทางทะเลและการบริหารจัดการเรืออย่างยาวนานกว่า 32 ปี และบริษัท เอ็น.ที.แอล มารีน จำกัด (NTL) เป็นบริษัทย่อยของ PRM โดย PRM ถือหุ้น 99.99% ทุนจดทะเบียน 1,053 ล้านบาท มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเรือขนส่งน้ำมันในประเทศ

อย่างไรก็ตาม มองว่า อีอีซี ยังขยายต่อเนื่อง เพียงแต่อยู่ในช่วงโควิด แต่นักลงทุนเดินหน้าค่อนข้างมากมากพอสมควร ทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน  ที่รัฐยังเดินหน้า แม้ว่าทีมเศรษฐกิจชุดเก่าจะออกไปและมีทีมใหม่เข้ามา แต่ยังเป็นรัฐบาลชุดเดิม แน่นอนว่าต้องผลักดันต่อเนื่อง ขณะสถานการณ์โควิดแม้ในประเทศจะคลี่คลาย แต่ประเทศรอบข้างยังมีปัญหา โดยเฉพาะธุรกิจอากาศยาน ทำให้การใช้น้ำมันลดลง ซึ่งที่ผ่านมาคาดหวังว่า ไตรมาส 3 จะเริ่มฟื้นตัว แต่มองว่าคงใช้เวลาอีกระยะ 

อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีหลังธุรกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง จากแผนการเสริมพอร์ตกองเรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศและกลุ่มธุรกิจ FSU รวมอย่างน้อย 2 ลำ คาดจีนจะส่งเรือลำแรกได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งเรือใหม่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจดันภาพรวมทั้งปีเติบโต 10-15%  จากแผนเดิม ต้องการเพิ่มเรือ ประมาณ 4-5 ลำ และขายเรือเก่าประมาณ 8 ลำ

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,601 วันที่ 16 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563