หลังเกิดเหตุหลังคาอุโมงค์รถไฟทางคู่ถล่ม เจ็บ 10 คนพิกัด อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อช่วงค่ำวันที่4 กันยายน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เร่ง หาสาเหตุอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ล่าสุด วันนี้(วันที่ 5 กันยายน) การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563 เวลาประมาณ 20.30 น. ได้เกิดอุบัติเหตุนั่งร้านที่กำลังเทคอนกรีตในส่วนหลังคา (Deck Slab) ของงานอุโมงค์ทางลอดรถไฟ (UNDERPASS) บริเวณสถานีรถไฟบันไดม้า ที่ กม.169+750 ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เกิดการทรุดตัว จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเกิดจากการเทคอนกรีตที่ไม่สมดุล มีการปล่อยปริมาณคอนกรีตเร็วเกินไป จนเกิดการกระจุกตัวของคอนกรีต ทำให้นั่งร้านบริเวณดังกล่าวเกิดการทรุดตัว และเกิดเหตุดังกล่าว
ทั้งนี้ มีคนงานได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 10 ราย ซึ่งถูกนำส่งที่ รพ.ปากช่องนานา ได้รับการรักษา และออกจากโรงพยาบาลแล้วตั้งแต่คืนวันเกิดเหตุ
ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย จะดำเนินการตรวจสอบกับผู้รับเหมาถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น และรายงานความคืบหน้าต่อไป
สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 29,968.62 ล้านบาท ว่า ผลงาน เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ภาพรวมของการก่อสร้างมีความคืบหน้า 41.42% เร็วกว่าแผน 1.19% (แผนงานกำหนดไว้ 40.23%) โดยการรถไฟฯ ได้ว่าจ้างบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-อาร์ที เป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน
สำหรับการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 3 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร งบประมาณก่อสร้าง 7,560,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน แผนงานกำหนดไว้ 56.71% ความคืบหน้าผลงาน 59.35% เร็วกว่าแผน 2.64%
สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาอนุมัติจาก ครม. ส่วนสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ งบประมาณก่อสร้าง 9,290,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 42 เดือน แผนงานกำหนดไว้ 33.598% ความคืบหน้าผลงาน 31.969% ล่าช้ากว่าแผน 1.629%
อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ ได้เร่งดำเนินการก่อสร้างเพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนงาน และพร้อมเปิดให้บริการในปี 2565
ดังนั้น หากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว ทำให้มีความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าเพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มความรวดเร็วและความตรงต่อเวลาในการเดินขบวนรถไฟได้อีกด้วย อีกทั้งประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ ลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
การรถไฟฯ มีโครงการที่จะพัฒนาทางคู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมพื้นฐานอื่นๆ เน้นการบริหารจัดการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟโดยใช้แนวทางการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) หรือทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) ช่วยเพิ่มความเร็วและความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถไฟ สามารถแก้ไขปัญหาจราจรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และที่สำคัญจะเป็นการลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ