รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 124,959 ล้านบาท โดยระบุว่า ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนเตรียมสำรวจเวนคืนที่ดิน และประเมินวงเงินชดเชยเวนคืน ซึ่ง รฟม.จะดำเนินการควบคู่ไปกับขั้นตอนการจัดทำราคากลาง เพื่อเตรียมประกวดราคาจัดหาเอกชนร่วมทุนด้วย
สำหรับการเวนคืนที่ดิน ขณะนี้สามารถดำเนินการได้แล้ว เนื่องจากปัจจุบันมีการประกาศใช้ พ.ร.ฎ.กำหนดที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 2563 เพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน –ราษฎร์บูรณะ
“ตอนนี้เราทำงานควบคู่สองส่วน คือเรื่องของการเตรียมประมูล รฟม.ก็อยู่ระหว่างทำราคากลาง คาดว่าปลายปีนี้จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาเห็นชอบได้ และในช่วงต้นปี 2564 ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนประกวดราคาหาเอกชนร่วมลงทุน ส่วนอีกเรื่องคือการเวนคืนที่ดิน ตอนนี้ไม่มีปัญหาติดขัด อยู่ในขั้นตอนของการสำรวจเวนคืน”
รายงานข่าวระบุอีกว่า ด้านแนวเวนคืนที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เบื้องต้นกำหนดเวนคืนที่ดินประมาณ 410 แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้าง 267 หลังคาเรือน ซึ่งนอกจากเวนคืนเพื่อพัฒนาแนวรถไฟฟ้าแล้ว ยังเวนคืนเพื่อเป็นจุดขึ้น-ลง 17 สถานี พื้นที่ก่อสร้างที่จอดรถไฟฟ้า (เดโป้) 50 ไร่ โดยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ กำหนดกรอบวงเงินไว้ประมาณ 15,913 ล้านบาท สำหรับงบประมาณดำเนินงาน สำนักงบประมาณจะเป็นผู้พิจารณาจัดสรร
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ขณะนี้ รฟม.ประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท โดยจะแบ่งออกเป็น งานโยธาราว 8 หมื่นล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนงานระบบรถไฟฟ้า คาดว่าจะจัดใช้วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท ในส่วนของรูปแบบการลงทุน จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ซึ่งเบื้องต้นศึกษาเป็นรูปแบบ PPP Gross cost ระยะเวลา 30 ปี เหมือนรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เหนือ) ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่
ทั้งนี้แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ จะเริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่สถานีเตาปูน เป็นทางยกระดับตามแนวถนนข้ามคลองบางซื่อ โดยเปลี่ยนเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพวุธทหารบก ที่สถานีเตาปูน ผ่านแยกเกียกกาย
เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู
เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถนนราชดำเนินกลาง แยกผ่านฟ้าลีลาศ เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร เข้าสู่ถนนจักรเพชร
ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวรสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้แยกมไหสวรรย์
หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะเปลี่ยนเป็นโครงสร้างยกระดับวิ่งไปตามกลางถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกดาวคะนอง ข้ามสะพานข้ามแยกพระราม 2 แยกประชาอุทิศ ข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดงและสิ้นสุดที่ครุใน ระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 11 กิโลเมตร รวมสถานีทั้งสิ้น 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รฟม.เข็น "สายสีส้มตะวันตก-ม่วงใต้" จ่อประมูลปีนี้