“ด่วนขั้น 3” ส่อล่ม!  ม.เกษตร  กลับลำ เตะถ่วงเจรจา

10 ก.ย. 2563 | 06:45 น.

"ม.เกษตร "ส่อ กลับลำ ยืดเวลาสรุปแนวเส้น ทาง “ด่วนขั้น 3” หลัง" กทพ." ชงแนวคิดผุดโดมครอบอุโมงค์ ลั่นได้ข้อสรุปภาย 2-3 เดือน จ่อชงครม.ไฟเขียวช่วงทดแทน N2 

 

การก่อสร้างโครงการ ทางพิเศษหรือทางด่วนขั้นที่3  สายเหนือ ตอนN1 อาจสะดุดลงได้  หาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกับ แนวคิด ของ ทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)   ลงทุนสร้างหลังคาโดมครอบทางด่วนและรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี  ระบบป้องกันในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  ตามข้อ ตกลงที่ให้ไว้ระหว่างกัน เพื่อลดผลกระทบทางอากาศและเสียง หลังการประชุมล่าสุด  มหาวิทยาลัยเกษตรขอนำข้อเสนอกลับไปพิจารณาอีกครั้ง 

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เชิญมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ร่วมหารือหลังจากพบว่ามีความเห็นบางเรื่องที่ไม่ตรงกัน เบื้องต้นทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รับทราบข้อมูลถึงแนวทางที่กทพ.ได้ชี้แจงรายละเอียดในส่วนที่ม.เกษตรฯ มีความกังวลปัญหาในด้านมลพิษทางอากาศและทางเสียง รวมทั้งแนวคิดการสร้างหลังคาโดมครอบทางด่วนและรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ทั้งนี้ม.เกษตรฯ ขอเวลาศึกษารวบรวมข้อมูลให้ชัดเจน หลังจากนั้นจะแจ้งข้อมูลตอบกลับอย่างเป็นทางการกับกทพ.อีกครั้ง ซึ่งจะดำเนินการตอบกลับมาให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้คาดว่าการเจรจากับม.เกษตรฯ ถึงโครงการดังกล่าวจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3 เดือน (กันยายน-พฤศจิกายน 2563) ส่วนแนวเส้นทางของโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วงทดแทน N 1 จะเป็นอย่างไรนั้น ทุกอย่างต้องรอข้อมูลจากม.เกษตรฯ แจ้งกลับมาอีกครั้ง หากโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วงทดแทน N1 ได้ข้อยุติ จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบดำเนินการก่อสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วงทดแทน N 2 เนื่องจากมีการออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว หลังจากนั้นจะดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป


“แนวเส้นทางโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 นั้นจะใช้บริเวณใดบ้าง ยังตอบไม่ได้ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนจากม.เกษตรศาสตร์ ก่อนว่าสามารถใช้เส้นทางไหนได้บ้าง หากโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วงทดแทน N1ได้ข้อสรุปจากม.เกษตรฯ    เราจะเริ่มออกแบบรายละเอียด เบื้องต้นจะใช้แนวเส้นทางเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (ช่วงแคราย-ลำสาลี) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างช่วงทดแทน N 1 ภายในต้นปี 2565 
ส่วนการเปิดประมูลโครงการฯ  ขึ้นอยู่กับการเจรจากับม.เกษตรฯ เช่นเดียวกัน เนื่องจากนโยบายคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ต้องการให้ดำเนินการโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วงทดแทน N1และN2 ก่อสร้างควบคู่กัน”

 

“ด่วนขั้น 3” ส่อล่ม!  ม.เกษตร  กลับลำ เตะถ่วงเจรจา

 

อย่างไรก็ตาม หากสามารถดำเนินการโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วงทดแทน N1 ได้  จะช่วยลดการจราจรติดขัด เนื่องจากทางด่วนเส้นทางนี้เป็นเส้นทางช่วง East-West Corridor ที่เชื่อมต่อทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก หากเชื่อมต่อระหว่างกันได้  จะช่วยให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องใช้ทางด่วนบริเวณหมอชิต-วิภาวดี ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการจราจรดีขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณเส้นทางสายเหนือสามารถเดินทางสะดวกมากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาในการเดินทางไม่ถึงชั่วโมง 


สำหรับเงินลงทุนก่อสร้างทางด่วน 3 ช่วงทดแทน N2 ประมาณ 17,000 ล้านบาท ได้จากกองทุน คาดว่าปริมาณจราจรประมาณ 80,000 เที่ยวต่อวัน ส่วนค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ประมาณ 1,500 ล้านบาท ทั้งนี้ การเปิดประกวดราคาจะทำพร้อมกัน โดยแยกเนื้องาน 2 ส่วน กทพ.จะรับผิดชอบก่อสร้างฐานรากและเสาตอม่อรถไฟฟ้าเท่านั้น ที่เหลือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทสไทย (รฟม.) จะให้เอกชนดำเนินการในรูปแบบการลงทุน PPP 

 

 

สำหรับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร เริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.1+000 ของถนนประเสริฐมนูกิจ ยกระดับตามแนวตอม่อที่ก่อสร้างไว้แล้วบนเกาะกลางของถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม ทางพิเศษฉลองรัช ถนนนวมินทร์ ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร จากนั้นจะเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ จนไปสิ้นสุดโครงการ โดยเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร

 

หน้า7หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3608

‘ม.เกษตร’ ยอมถอยกทพ.ลุย ‘ทางด่วนขั้นที่ 3- รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล’