เลื่อนระนาว! รถไฟฟ้า สารพัดสี

19 ก.ย. 2563 | 06:04 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2563 | 12:23 น.

เลื่อนระนาว! รถไฟฟ้า สารพัดสี เปิดเดินรถ ล่าช้าจากแผน สายสีทอง จากตุลาคมไปธันวาคม สายสีเหลือง-ชมพู อีก2ปี สายสีแดง ระทึก ศาลคุ้มครองให้เดินรถหรือไม่ ขณะ สายสีส้มโกลาหล

คนกรุงรอเก้อ ! เมื่อรถไฟฟ้าสารพัดสีเส้นทางใหม่มีอันต้อง เลื่อนออกไป ทั้งที่เดิมทีมีแผนทยอยเปิดให้บริการในระยะเวลาอันใกล้ ล่าสุดรถไฟฟ้า สาย “สีทอง” วิ่งเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ไปตามถนนเจริญกรุง เขตคลองสาน ตลอดระยะทาง ใช้ระบบรางนำทาง ไร้คนขับ เส้นแรกของไทย ซึ่ง บีทีเอสกรุ๊ป ประกาศชัด เลื่อนเปิดเดินรถไปปลายปี หรือภายในเดือนธันวาคม จากแผนเดิมที่กรุงเทพ มหานคร กำหนดเปิดเดินรถภายในเดือนตุลาคม เนื่องจากระบบราง ไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ ยังไม่พร้อม การทดสอบเดินรถ มีเวลาสั้นเกินไป  

 

ย้อนไปก่อนหน้านี้ สายสี เหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) รถไฟฟ้ารางเดี่ยว เส้นแรก ของไทย และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  ที่บีทีเอส ได้รับสัมปทาน ตามแผนใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ตามนโยบายรัฐบาลต้องการให้ ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าเร็วขึ้น แต่ด้วยระยะทางยาวถึง 30 กิโลเมตร ขณะมาตรฐานการก่อสร้างรถไฟฟ้า ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี ต่อหนึ่งโครงการ  เมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด  การก่อสร้างหยุดชะงัก คนงานต่างด้าวกลับประเทศ การส่งมอบพื้นที่ล่าช้าจากหน่วยงานรัฐ และติดปัญหาเวนคืนต้องขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก1 ปี เป็นปี 6

 

 สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงถนนรัชดาฯ-ลาดพร้าว ถึงรัชโยธิน ระยะทาง 2 กิโลเมตร การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ มองว่า ต้องใช้เวลา   

               

เลื่อนระนาว!  รถไฟฟ้า สารพัดสี

 

ที่มีปัญหามากที่สุด และเห็นแววล่าช้า คือ สายสีส้ม(บางขุนนนท์-มีนบุรี) ช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) มีการปรับเกณฑ์ประมูล นำซองเทคนิคพิจารณาร่วมกับราคา มองว่าเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบสำหรับ 10 ผู้รับเหมาที่ซื้อซอง ไม่มีโอกาสเตรียมความพร้อมสำหรับหลักเกณฑ์ใหม่ กระทั่งบีทีเอส ต้องยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครอง หากศาลรับฟ้องทุกขั้นตอนต้องหยุดชะงัก

                เช่นเดียวกับ สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ช้ามา 10 ปี ล่าสุด ขอศาลคุ้มครองชั่วคราวเพื่อเปิดเดินรถ  ช่วยประชนชนได้ใช้รถไฟฟ้าเส้นนี้เร็วขึ้น   จากผลกระทบสัญญาที่ 1 การก่อสร้างงานโยธาสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงช้ากว่าแผน กรณีรื้อย้ายสาธารณูปโภค ส่งผลให้สัญญาที่ 3 งานวางราง ระบบไฟฟ้าต้องกระทบตามไปด้วยต้องขยายเวลา ก่อสร้าง อีก 512 วัน กับปมที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอขยายวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่ม (Variation Order : VO)  10,345 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศเนื่องจากแหล่งเงินกู้เดิม องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ปฏิเสธการกู้เพิ่ม จึงเป็นปัญหาที่รฟท. ต้องปฏิบัติตามระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ต้องประกวดราคางานเพิ่มเติมใหม่ ดังกล่าว

              

 

 

 

  ยังมีอีกหลายเส้นทางที่อยู่ขั้นตอนดำเนินโครงการ อย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-บึงกุ่ม พัฒนาคู่ขนานไปกับทางด่วนขั้นที่ 3 ตอนเหนือ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ยังลูกผีลูกคน ว่าสร้างได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสายสีน้ำตาล คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้า เช่นเดียวกับสายสีม่วงใต้ ช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ส่วนต่อขยายสายสีม่วงเหนือ ที่เตรียมความพร้อมเข้าพื้นที่เวนคืนที่ดิน และรถไฟฟ้าสายรองอย่างสายสีเทา ของกทม. ที่คาดว่าจะเริ่มสร้างในปี 2564  วิ่งผ่านเพชรบุรี-ทองหล่อ-พระราม 3 -เอกมัย-รามอินทรา คึกคัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับงบประมาณ สภาพเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์โควิดมาเยือน

                อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารถไฟฟ้าจะเปิดให้บริการเมื่อใด ล่าช้าหรือไม่ แต่วันนี้ ภาพที่ปรากฏชัด นั่นคือ ความเจริญ มาปักหมุดรออยู่ก่อนแล้ว !

ข่าวหน้า7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3611 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทดสอบ วิ่งแล้ว ! รถไฟฟ้า "สายสีทอง "

กทม.จ๊าก!แบกหนี้พุ่ง รถไฟฟ้าสายสีเขียว ลุ้นเคาะต่อสัมปทาน 38 ปี

"บีทีเอส"เลื่อน! เปิดเดินรถไฟฟ้า "สายสีทอง"

งานงอก!! รฟท. "สายสีแดง" จ่อสะดุด

ฉีก! ทีโออาร์ ซ่อนเงื่อน รถไฟฟ้า "สายสีส้ม"

อัปเดตล่าสุด สายสีชมพู-เหลือง ถึงไหนแล้ว