เมื่อวันที่ 22 กันยายน ศาลปกครองกลาง มีหนังสือ เรียก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไต่สวน ฉุกเฉิน คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ตามที่ บีทีเอสกรุ๊ป มอบทนาย ความยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 กรณีปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ประมูลรถฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรีมูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ไม่เป็นธรรม แก้ไขทีโออาร์หลังเอกชน 10 ราย ซื้อเอกสารร่วมทุนรัฐไปแล้ว ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว และขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนฉุกเฉิน ในประเด็นพิจารณาเทคนิคร่วมกับราคา ซึ่งนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BTSC มองว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่เคยปรากฏมาก่อนว่า เมื่อเอกชนทราบเงื่อนไขทีโออาร์และตกลงใจซื้อซองประกวดร่วมลงทุนโครงการกับรัฐแล้ว ภายหลังกลับแก้ไขเปลี่ยนแปลงทีโออาร์เอื้อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ได้เปรียบกว่า และเนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มใกล้ยื่นซองบริษัทจึง ขอศาลให้ไต่สวนฉุกเฉินและขอคุ้มครองชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก หนังสือ แจ้งนัดไต่สวนมาถึงรฟม.กะทันหัน ช่วงวันจันทร์ที่ 21 กันยายน และในวันรุ่งขึ้น ต้องเดินทางชี้แจงต่อศาล ส่งผลให้รฟม.ไม่ได้ตระเตรียมความพร้อมในเรื่องเอกสารหลักฐานและห้วงเวลากระชั้นเกินไป จึง ตอบกลับขอเลื่อนนัดไต่สวน ประกอบกลับ รฟม.ไม่เห็นคำร้องคัดค้านซึ่งเป็นเนื้อหาหลักที่บีทีเอสยื่นฟ้อง จึงเป็นสาเหตุที่ศาลยอมรับและขยับวันนัดออกไปจนกว่ารฟม.จะพร้อมโดยไม่ได้ระบุวันเวลาในครั้งต่อไป
ขณะการเปิดซองประมูลสายสีส้ม แม้เลื่อนจากวันที่ 23 กันยายน ไปเป็นวันที่ 6 พฤศจิกายนเพื่อให้เอกชนเตรียมความพร้อม แต่หากคดียืดเยื้อ หรือศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กับกลุ่มบีทีเอส แน่นอนว่า ความล่าช้าย่อมเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ นาย ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม. ยืนยันกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เชื่อว่าศาล เข้าใจถึงเจตนาที่รฟม.แก้ไขหลักเกณฑ์การประมูล รถไฟฟ้าสายดังกล่าว เนื่องจาก รฟม.เป็นหน่วยงานรัฐ ต้องการได้ของที่ดีคุ้มค่า ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าและการใช้บริการ ลด
ผลกระทบจากการซ่อมบำรุง เน้นความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ผู้เดินทางชุมชน ตลอดจนโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ รฟม.จำเป็นอย่างยิ่งต้องร่วมรับผิดชอบที่สำคัญรฟม. สามารถ ใช้อำนาจตาม ตามแก้ไขทีโออาร์ได้หาก ยังไม่ถึงเวลายื่นซอง ตามข้อกำหนดการประมูลหรือ RFP ข้อ 17.1 และที่ผ่านมาหลายโครงการได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในลักษณะนี้ เช่นกัน ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นกับสายสีส้ม โครงการเดียวส่วนความได้เปรียบเสียเปรียบ เอื้อต่อเอกชนรายใดรายหนึ่งที่ผ่านมา
รฟม.ได้ชี้แจงกับบีทีเอส ว่าแม้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ทีโออาร์ใหม่ แต่ยังสามารถ หาพันธมิตรที่ชำนาญการเกี่ยวกับอุโมงค์มาร่วมงานได้แต่ที่เน้นมากสำหรับเอกชนตัวหลัก ที่ร่วมประมูลนั้นคือ ความสามารถในการเดินรถ
“เรามั่นใจ ว่าศาลน่าจะรับฟังรฟม. เพราะขอในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับรัฐ ดูคุณภาพของงานไม่ได้เน้นราคาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการก่อสร้าง ขุดอุโมงค์มีความซับซ้อนหาก การเดินขบวนรถที่มีผู้โดยสาร 800-1,000 คน เกิดเหตุขัดข้อง จะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ต้องนำมาพิจารณาประกอบ” อย่างไรก็ตามไม่ว่า ผลออกมาอย่างไร ต้องยอมรับคำชี้ขาดของศาล
ทั้งนี้ นอกจากยื่นศาลปกครองแล้ว เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ณ ชั้น 16 อาคารศรีจุลทรัพย์ บีทีเอส กรุ๊ป ได้เข้ายื่นหนังสือถึงองค์กรต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อร่วมตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม เอกชน 10 ราย ที่ซื้อซองประมูลสายสีส้ม วงการมองว่ามีการจับมือเป็นพันธมิตรเพื่อชิงงานระหว่าง กลุ่มบีทีเอส กับบีอีเอ็ม โดยมี บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาที่เชี่ยวชาญงานอุโมงค์หนึ่งในสองของประเทศนอกจาก บมจ.ช.การช่าง น่าจะรองรับงาน ขุดเจาะอุโมงค์จากบีอีเอ็มหากชนะประมูล