“โรงงานน้ำตาล” วางกรอบจัดเก็บผลผลิตอ้อยสดคุณภาพปีการผลิต 63/64

29 ก.ย. 2563 | 05:15 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2563 | 12:13 น.

โรงงานน้ำตาลทราย วางกรอบการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลรอบปีการผลิต 2563/64 เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

นายรังสิต เฮียมราช ผู้อำนวยการ บริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 58 โรง ได้ร่วมกำหนดแนวทางบริหารจัดการจัดเก็บผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ที่เตรียมเปิดรับผลผลิตในช่วงปลายปีนี้ โดยมุ่งเป้าหมายประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ให้ได้ดีที่สุด เพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยสูงสุด

                หลังจากสถานการณ์ปริมาณอ้อยในปีนี้ที่คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบไม่ถึง 70 ล้านตัน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งรุนแรง กระทบต่อการเจริญเติบโตของอ้อย แม้ว่ามีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ แต่การกระจายไม่ทั่วถึง และฝนมาล่าช้า นอกจากนี้ พื้นที่เพาะปลูกอ้อยลดลง เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

“โรงงานน้ำตาล” วางกรอบจัดเก็บผลผลิตอ้อยสดคุณภาพปีการผลิต 63/64

                   โรงงานน้ำตาลจะร่วมมือกับชาวไร่วางแผนจัดเก็บผลผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถการหีบของแต่ละโรงงาน พร้อมสนับสนุนรถตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่คู่สัญญา เพื่อให้ได้อ้อยสดที่มีคุณภาพเข้าหีบให้ได้ยิลด์น้ำตาลต่อตันที่ดี รวมถึงรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้จากการเพาะปลูกอ้อย

“จากการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกอ้อยในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าอ้อยปีนี้ไม่ดีนักทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพอ้อย ซึ่งเกิดจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้ตออ้อยได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้ที่คาดว่าจะลดลง ดังนั้น โรงงานน้ำตาลทุกโรงจะเร่งช่วยเหลือขาวไร่และสร้างความเชื่อมั่นว่ากำลังการผลิตของโรงงานมีเพียงพอในหีบอ้อยตามกรอบเวลา โดยไม่มีอ้อยตกค้างไร่ ดังนั้น ชาวไร่จึงไม่จำเป็นต้องเร่งจัดเก็บผลผลิตด้วยการเผาอ้อย เพราะจะทำให้ยิลด์น้ำตาลไม่ดีและกระทบต่อรายได้ในที่สุด”

                   ทั้งนี้ โรงงานเชื่อว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการหีบอ้อยและสามารถลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยโรงงานน้ำตาลจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อตอบสนองตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้มีอ้อยสดเข้าหีบ 80% โดยอีก 20% เป็นอ้อยไฟไหม้ของปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบ