ลุ้นระทึก! ศาลชี้ขาด รื้อเกณฑ์ TOR รถไฟฟ้า “สายสีส้ม”

16 ต.ค. 2563 | 07:08 น.

     " บีทีเอส-รฟม."ระทึกหมู่หรือจ่า ศาลปกครองกลางชี้ขาดสัปดาห์หน้า คดีดำ แก้ทีโออาร์สายสีส้ม ด้านรฟม.เชื่อศาลไม่รับคุ้มครอง เหตุบีทีเอสไม่ได้เสียหาย หลังฉายหนังตัวอย่าง ยกฟ้อง ชุมชนประชาสงเคราะห์

 

 

 

           

 

                ศาลปกคลองกลาง ไต่สวนครั้งแรก  คดีรื้อเกณฑ์ทีโออาร์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสในฐานะโจทย์ยื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะจำเลย  ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างชี้แจงข้อเท็จจริง รฟม.สะท้อนว่า เหตุทำให้เกิดผลกระทบยังไม่เกิดขึ้น ขณะบีทีเอส แย้งว่า การแก้ไขเกณฑ์ทีโออาร์หลังปิดขายซอง ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดีชุมชนประชาสงเคราะห์ ฟ้องรฟม. คดีเวนคืนที่ดินไม่เป็นธรรม โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งศาลให้ เหตุผลว่า การเวนคืนยังไม่เกิดขึ้นจริง และคดีนี้จะซ้ำรอยหรือไม่นั้น

                นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอส เปิดเผยในฐานะผู้ฟ้องคดี หมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

                โดยระบุว่า ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนคดีดังกล่าวเป็นครั้งแรก ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เดินทางมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ต้องการชี้แจงนอกเหนือจากเอกสารชี้แจงไปก่อนหน้านี้

                ขณะเดียวกันทางบีทีเอสในฐานะผู้ฟ้องคดี ยังคงยืนยันคำฟ้อง 2 ส่วน คือ 1.ขอให้ยกเลิกเอกสารเพิ่มเติม ตามการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศออกมานอกเหนือจากเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) ซึ่งมีผลทำให้ปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอเอกสาร จากเดิมพิจารณาข้อเสนอด้านราคา 100 คะแนน เป็นพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน

               

2. ขอคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราว จนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งตัดสินคดี โดยประเด็นคำฟ้องดังกล่าว เนื่องจากบีทีเอสเห็นว่าการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ภายหลังประกาศขาย RFP ไปแล้วนั้น ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่เป็นธรรม อีกทั้ง รฟม.ยังดำเนินการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่อนุมัติเห็นชอบให้เปิดประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม และได้มีมติเห็นชอบถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกในรูปแบบเดิมแล้ว

              

ลุ้นระทึก! ศาลชี้ขาด  รื้อเกณฑ์ TOR  รถไฟฟ้า “สายสีส้ม”

 

  “ขณะนี้ไม่มีเรื่องอะไรให้หนักใจ เราก็ยังมั่นใจว่าจะชนะ และเราคิดว่าเราฟ้องได้ จึงมาฟ้อง ส่วนเรื่องที่เรายังไม่เป็นผู้เสียหาย ก็ได้ชี้แจงในเอกสารต่อศาลแล้ว ขอให้ศาลเป็นผู้พิจารณาว่าเสียหายหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ศาลยังไม่ได้มีการนัดไต่สวนเพิ่มเติม หรือนัดฟังคำตัดสิน ขณะเดียวกันหากรฟม.มีการปรับแก้เกณฑ์ทีโออาร์ใหม่ก็ควรเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบด้วย เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน และไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ

 

ทั้งนี้ในกรณีหากศาลมีคำสั่งไม่คุ้มครองฉุกเฉิน บีทีเอสยังคงยืนยันที่จะเข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในวันที่ 9 พ.ย.นี้ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเอกสารยื่นข้อเสนอ ซึ่งจะมีการจับมือร่วมกันพันธมิตร แต่จะมีพันธมิตรกลุ่มใดบ้างยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อการประมูล ขณะเดียวกันหาก รฟม.มีการล้มประกวดราคาโครงการดังกล่าว และประกาศขายซองเอกสารการประกวดราคา (RFP)ใหม่ บีทีเอสก็คาดว่าจะเข้าร่วมประมูล แต่คงต้องขอศึกษาเงื่อนไขใน RFP ก่อน

 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า หลังศาลนัดไต่สวนกรณีบีทีเอสยื่นฟ้องการปรับแก้เกณฑ์ทีโออาร์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยนำข้อเสนอทางด้านเทคนิคมาให้คะแนนควบคู่กับข้อเสนอราคา หลังจากที่มีการเปิดขายซองประมูลไปแล้ว ทำให้บีทีเอสได้ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนเอกสารเพิ่มเติมการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ดังกล่าว และขอให้คุ้มครองการประมูลฉุกเฉิน ในฐานะผู้ถูกฟ้องได้ยื่นส่งคำร้องคัดค้านหลักๆ เบื้องต้นได้มีการชี้แจงต่อศาลแล้ว ซึ่งบีทีเอสยังไม่ใช่เป็นผู้เสียหาย รวมทั้งการดำเนินการตามกระบวนการยังไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของบีทีเอส ซึ่งยืนยันว่ากระบวนการการคัดเลือกทำตามขั้นตอนกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี (ครม. )

              

 

 

  “ขณะนี้อยู่ในอำนาจของศาล ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์ก้าวก่าย ทั้งนี้มั่นใจว่า ศาลน่าจะไม่รับคำร้องคุ้มครองชั่วคราว เพราะบีทีเอสไม่ได้เป็นผู้เสียหาย คาดว่า ศาลจะมีคำพิจารณาตัดสินคดีดังกล่าวภายในสัปดาห์หน้า หากข้อมูลการชี้แจงในครั้งนี้เพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องมีการไต่สวน แต่ถ้าข้อมูลการชี้แจงยังไม่ครบถ้วนอาจจะมีคำสั่งไต่สวนเพิ่มเติมได้เช่นกัน

หน้า7หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3619