จับตา นายกฯ เซ็นสัญญา "ไฮสปีดไทย-จีน" สัญญา 2.3 วันนี้

28 ต.ค. 2563 | 00:30 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2563 | 03:44 น.

รฟท.จับมือไชน่าเรลเวย์ ลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จ่อทุ่มงบ 5 หมื่นล.จัดหาขบวนรถไฟ-เพิ่มบุคลากร

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (28 ตุลาคม 2563) เวลา 15.00 น. พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีลงนามในสัญญา 2.3 จ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหา ขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร สัญญา 2.3 ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์ปอเรชั่น รัฐวิสาหกิจจีน โดยมีนายศักดิ์สยาม. ชิดชอบ รัฐมนตรว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวรายงาน และนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมพิธี ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ที่ทำเนียบรัฐบาล

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในวันนี้(28 ตุลาคม 2563) หลังจากลงนามกับสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปรับกรอบวงเงินและร่างข้อตกลงการจ้างและสัญญาที่ 2.3 ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท เบื้องต้นจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่าง รถไฟไทย-จีน (Joint Committee : JC) ครั้งที่ 29 ซึ่งมีกำหนดจะจัดในวันนี้ด้วยเช่นกัน

 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 2.3 งานอุโมงค์มวกเหล็ก-ลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร (กม.) ที่ผ่านมาคณะกรรมการ(บอร์ด)รฟท.มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาสัญญาออกไปอีก 90 วัน (31 มกราคม 2564) จากเดิมระยะเวลาสัญญาสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2563 เนื่องจากได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินงานต้องชะลอออกไป ซึ่งจะเร่งเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

สำหรับแนวเส้นทางโครงการนี้มีระยะทางรวม 253 กม. โดยผ่านพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด จำนวน 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา

 

ทั้งนี้สถานะความก้าวหน้าการประกวดราคางานโยธา 14 สัญญาของ โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ในปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 1 สัญญา คือ สัญญา1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ก่อสร้างล่าช้ากว่าแผน 47.98% จำนวน 1 สัญญา คือ สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. เนื่องจากติดปัญหาการเข้าพื้นที่ หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 บอร์ดรฟท.อนุมัติสั่งจ้างและประกาศผู้ชนะ จำนวน 1 สัญญา คือ สัญญา3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดงและช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. ส่วนการจัดเตรียมเอกสารการประกวดราคา 1 สัญญา คือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. รอลงนามสัญญาจ้าง จำนวน 10 สัญญา ได้แก่ สัญญา 3-2 ช่วงงานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.60 กม. สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. และสัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม.