ส่อล้มประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

25 ธ.ค. 2563 | 01:34 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2563 | 10:06 น.

ส่อล้มประมูล“รถไฟฟ้าสายสีส้ม” วงในคาดการณ์ ขณะศาลปกครองสูงสุดยังไม่ชี้ขาด

 

ที่ผ่านมาก่อนเปิดประมูลทุกโครงการ จะต้องชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบ ตามหลักเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) หลังมีการเปิดรับซองประมูล โดยเบื้องต้นจะเปิดซองประมูลทีละซองจนครบทั้ง 4 ซอง ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ได้แก่ คุณสมบัติ เทคนิค การลงทุน ผลตอบแทน และข้อเสนออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ แต่สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท กลับแตกต่างจากโครงการใหญ่ๆหลายโครงการ เนื่องจากภายหลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปิดการซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน โครงการฯภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

 

พบว่าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) คัดเลือกมาตรา 36 มีมติขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของทีโออาร์ในการประมูลโครงการฯ โดยปรับเกณฑ์พิจารณาซองข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค 70% และซองข้อเสนอที่ 3 ด้านการเงิน 30% ควบคู่กัน ขณะเดียวกันได้ยืนยันว่า ไม่ได้เอาใจเอกชนรายใดรายหนึ่ง     แต่มีกระแสวงในลือกันว่าที่ผ่านมาบริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD หนึ่งในเอกชนผู้ซื้อซองร่วมลงทุนฯ ทำหนังสือ ร้องถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ โดยยึดผลประโยชน์สูงสุดในภาพรวม ทั้งศักยภาพ วิธีการทำงานและความชำนาญการ มากกว่าการพิจารณาซองราคา

 

โดยเสนอต่อ สคร. รฟม.และบอร์ดมาตรา 36 พิจารณา ซึ่งมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์ว่าสามารถดำเนินการได้ หากยังไม่ถึงกำหนด การยื่นซองประมูล ส่งผลให้ฟากเอกชนอีกรายมองว่าการปรับเกณฑ์ทีโออาร์ใหม่นั้นไม่โปร่งใสและเป็นการเอื้อเอกชนอีกรายมาก กว่า จนถึงขั้นฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรมจากการรื้อทีโออาร์ใหม่ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี

 

  

ส่อล้มประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

 

 ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายสุรพงษ์. เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เปิดเผยภายหลังศาลปกครองสูงสุดนัดไต่สวน ระหว่างบีทีเอสซี และคณะกรรมการมาตรา 36 กับพวกรวม 2 คน ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ว่า สำหรับการนัดไต่สวนของบีทีเอสซีในครั้งนี้ ทางบีทีเอสยืนยันว่ากรณีที่ยื่นคำร้องต่อศาลฯให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์ทีโออาร์เดิมในการประมูลโครงการฯ โดยพิจารณาให้คะแนนซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 100% ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่โปร่งใส ทั้งนี้ยืนยันว่าศาลฯจะใช้เวลาพิจารณาหลักเกณฑ์ทีโออาร์ดังกล่าวให้ถูกต้อง เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการเปิดให้บริการโครงการถไฟฟ้าสายสีส้มและไม่กระทบต่อประชาชน

 

    “ศาลได้นัดไต่สวนในฝั่งของเรา และให้เราฟังข้อมูลด้วย โดยยังไม่ได้มีการนัดหมายเพิ่มเติม ซึ่งเรายืนยันว่า ตามที่ได้ยื่นคำร้องไป เพราะเล็งเห็นว่าการปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาในครั้งนี้ อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียม ส่วนกรณีที่รฟม.ชี้แจงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฯ ว่าบีทีเอสซี ยื่นคำร้องที่ผ่านมานั้น ทำให้กระทบต่อการบริหารงานของรัฐและเกิดความล่าช้าในการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มและทำให้ประชาชนเดือดร้อน เรามองว่ากระบวนการประมูลนั้นควรดำเนินการให้ถูกต้องและรอบคอบที่สุด ซึ่งเรายังมีเวลาดำเนินการ เพราะระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการใช้เวลาอีกหลายปี”
    

 

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม.ยืนยันตามคำอุทธรณ์ว่าคำสั่งทุเลาของศาลปกครองชั้นต้น ส่งผลกระทบต่อภาพรวมโครงการ ทำให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากขณะนี้ รฟม. เปิดรับซองข้อเสนอเอกชนมาแล้วกว่า 1 เดือน แต่ยังไม่สามารถดำเนินการเปิดซองเพื่อพิจารณาข้อเสนอได้ ดังนั้นหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การเปิดพิจารณาข้อเสนอก็จะล่าช้าออกไปเรื่อยๆ และเป็นเหตุกระทบต่อโครงการ กระทบต่อการเปิดให้บริการประชาชน และสร้างความเสียหาย 

 

    สำหรับคดีคำร้องเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ฟ้องคดี ส่วนคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน เป็นผู้ถูกฟ้องคดี โดยเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ทั้งนี้คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอื่น 
  

 

 ขณะนี้ยังไม่มีวี่แววว่าการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะสิ้นสุดเมื่อไร เพราะปัจจุบันฟากรฟม.ยังไม่ดำเนินการเปิดซองเพื่อพิจารณาข้อเสนอโครงการฯ ได้ เพราะศาลปกครองฯ สั่งชะลอโครงการดังกล่าวให้กลับไปใช้เกณฑ์เดิม ทำให้รฟม.ยื่นอุทธรณ์ ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้โครงการฯ ล่าช้า หากท้ายที่สุดแล้วยังเคลียร์ไม่จบอาจจะกระทบต่อประชาชนเดือดร้อน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การล้มประมูลโครงการฯ นี้ก็เป็นได้ 

หน้า 7 ฉบับ 3637

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุ้นระทึก! ศาลชี้ขาด รื้อเกณฑ์ TOR รถไฟฟ้า “สายสีส้ม”
จากรถไฟฟ้า สายสีส้ม ถึง สายสีเขียว วิบากกรรม BTS
นับถอยหลัง! 6 รถไฟฟ้า ใหม่ กำลังมา
ฉีก! ทีโออาร์ ซ่อนเงื่อน รถไฟฟ้า "สายสีส้ม"