ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เมียนทวาย อินดัสเทรียล เอสเตท จำกัด (MIE) ในเครืออิตาเลียนไทยฯ ผู้บริหารจัดการโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในประเทศเมียนมา เปิดใจชี้แจง “ฐานเศรษฐกิจ” กรณีถูกเมียนมายกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก (Initial Phase) ที่บริษัทลงทุนไปแล้วราว 8,000 ล้านบาทว่า ยังคงมีโอกาสของการเจรจาในวันที่ 5 ก.พ.ที่จะถึงนี้ แต่ก็ยอมรับว่าฝ่ายเมียนมามีท่าทีต้องการผู้ร่วมลงทุนต่างชาติกลุ่มใหม่หรือพัฒนาโครงการรูปแบบใหม่ ซึ่ง MIE ได้ชี้แจงต่อเมียนมาไปแล้วถึงประเด็นที่เมียนมาอาจจะยังเข้าใจไม่ตรงกัน เป็นที่มาของการเจรจาในวันที่ 5 ก.พ.นี้ บริษัทคาดหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมในฐานะที่เป็นการลงทุนที่มีรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายให้การสนับสนุนและมีการทำ MOU ระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 2008 (พ.ศ. 2551)
ทั้งนี้ โครงการสัมปทานเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei SEZ Project) ที่กลุ่มบริษัทเอกชนไทยนำโดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD) ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย เป็นผู้ถือครองอยู่มาถึงทางตันอีกครั้งเมื่อคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของเมียนมา หรือ Dawei Special Economic Zone Management Committee: DSEZ MC ได้ยื่นหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 มายังบริษัทระบุเหตุผลว่า ผู้ถือสัมปทานฝ่ายไทย คือ บริษัท เมียนทวาย อินดัสเทรียล เอสเตท จำกัด (MIE) ในเครือไอทีดี ได้กระทำผิดสัญญาที่ทำไว้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 โดยไม่สามารถให้ความมั่นใจกับเมียนมาในเรื่องเงินลงทุน มีการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมดำเนินการรายปีซึ่งคิดเป็นเงินรวมเกือบ 6.7 ล้านดอลลาร์ และกรณี MIE ไม่นำส่งหนังสือสละสิทธิของ ITD ที่ได้รับชดเชยเงินลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะสมบูรณ์ที่ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2551
เอกสารยกเลิกสัญญาของ DSEZ MC อ้างว่าได้แจ้งการละเมิดสัญญาดังกล่าวมายังผู้ถือสัมปทานฝ่ายไทยแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการแก้ไข จึงขอใช้สิทธิ์ในการยกเลิกสัญญาสัมปทาน
ลงทุนกว่า 8 พันล้าน
มหากาพย์โครงการพัฒนาท่าเรือนํ้าลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2551 เมื่อไอทีดีเข้าไปจับมือทำบันทึกความเข้าใจ ( MOU) กับการท่าเรือแห่งเมียนมา และต่อมาเริ่มมีการขับเคลื่อนมากขึ้นเมื่อภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุนโดยมีการทำ MOU ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและเมียนมา (ยุครัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรและประธานาธิบดีเทียน เส่ง) หลังจากนั้นในปี 2554 เมียนมายังมีกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับใหม่ออกมารองรับ ก่อนที่จะได้รับแรงส่งอีกรอบในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ได้มีการแบ่งพื้นที่พัฒนาโครงการออกเป็นระยะแรก (Initial Phase) และระยะเต็มโครงการ(Full Phase) เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้เร็วขึ้น โดย ITD และกลุ่มพันธมิตรเอกชนไทย ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการทวายระยะแรกกับ DSEZ MC เพื่อดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร มีโครงการย่อยๆ ในสัญญาสัมปทาน ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมและถนน 2 ช่องทางเชื่อมโครงการทวายสู่ชายแดนประเทศไทย ณ บ้านพุนํ้าร้อน จังหวัดกาญจนบุรี , ท่าเรือขนาดเล็ก, เขตที่อยู่อาศัย, อ่างเก็บนํ้าและระบบประปา, โรงไฟฟ้า และระบบโทรคมนาคมผ่านสาย
นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับสิทธิ์ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก 8 ตร.กม. รวมเป็นพื้นที่ขายประมาณ 16,000 ไร่ ใช้เวลาทั้งหมด 8 ปี สัญญาสัมปทานทั้งหมดนี้ อยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมา มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ขยายได้อีก 25 ปี เป็นที่คาดหมายว่า การพัฒนาโครงการระยะแรกนี้ หากเป็นไปตามแผนการจะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,700 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้ลงเงินทุนไปราว 8,000 ล้านบาทนั้น ซึ่งมีการปรับปรุงที่ดินแบ่งเป็นแปลง การสร้างอ่างเก็บนํ้า สร้างบ้านพักและอาคารที่พักเขตที่อยู่อาศัย บริษัทยังไม่เคยได้สัญญาเช่าพื้นที่แม้แต่ฉบับเดียวจากเมียนมา มีการเจรจากันหลายครั้งเพื่อประโยชน์ร่วมกัน แต่ก็ไม่ได้บทสรุป ทำให้ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนหรือกลุ่มทุนที่สนใจมาร่วมทุน ซึ่งจุดนี้ ดร.สมเจตน์มองว่า ท่าทีของเมียนมาเหมือนต้องการผู้ร่วมทุนต่างชาติกลุ่มใหม่หรืออาจต้องการโครงการรูปแบบใหม่ ทั้งนี้ บริษัทในฐานะที่ลงทุนไปแล้ว ยังมองในแง่ที่ว่าสามารถเจรจารอมชอมกันได้ ไม่ได้ต้องการให้มีการยื่นฟ้องร้องกัน โดยอยากให้ภาครัฐส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังเมียนมาว่า เรื่องนี้สามารถเจรจากันได้ด้วยมิตรไมตรี
ขณะนี้ตนมองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ภาครัฐได้แสดงท่าทีว่าต้องการเข้าช่วยเจรจาแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง ร่วมกันประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการทวายฯ “อยากจะให้รัฐบาลให้ความเป็นธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีค่าชดเชยในการพัฒนาพื้นที่ (ซึ่งบริษัทเข้าปรับปรุงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงต้นของการลงทุนแล้ว 2 แสนไร่) เพราะโครงการนี้เรามีทั้ง MOU ที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายรับรู้และรับรอง”
เจรจาเมียนมาช่วย
นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. (NEDA) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการทวายดังกล่าวข้างต้น ได้ข้อสรุปจะใช้ ความสัมพันธ์ทางการทูต เจรจากับรัฐบาลเมียนมาช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการบอกเลิกสัญญาโครงการท่าเรือนํ้าลึกทวาย โดยให้คำนึงถึงสัมพันธ์ระหว่างกัน ในฐานะประเทศใน แถบอาเซียน ขณะเดียวกัน NEDA ยังเดินหน้าสนับสนุน เงินกู้ ระหว่างไทยกับเมียนมาเพื่อก่อสร้าง ถนนบ้านพุนํ้าร้อน-เชื่อมท่าเรือนํ้าลึกทวายระยะทาง 140ก ิโลเมตรวงเงิน4,000 ล้านบาท ที่จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ในอีก1-2เดือนนี้ และสามารถประมูลได้ปลายปีนี้ใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน2ปี
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,649 วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564