ล้มสายสีส้ม จบที่ครม.-ศาล ยึดเกณฑ์เทคนิค+ราคา บีทีเอสจ่อฟ้องอีกรอบ

05 ก.พ. 2564 | 19:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.พ. 2564 | 02:26 น.

รฟม.-คณะกรรมการคัดเลือก มาตรา 36 เอื้อสุดลิ่ม ชิงล้มประมูลสายสีส้ม มูลค่า 1.4 แสนล้าน ไม่สนผู้แทนจากสำนักงบค้าน เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทีโออาร์ เรื่องใหญ่ต้องเข้าครม. ด้านบีทีเอส รอคำสั่งศาลก่อนฟ้องอีกรอบ

 

มติคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มี นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธาน พิจารณา วาระด่วน ยกเลิกการประมูลสายสีส้มระยะทาง35.9กิโลเมตร มูลค่า 1.42 แสนล้านบาท ออกไป โดยไม่รอคำสั่งศาลปกครอง เมื่อวันที่ 3กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาที่ประชุม ให้เหตุผลว่าเนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้าทางคดีหากรอการตัดสินโดยไม่ทราบเวลาแน่นอน อาจส่งผลให้ การดำเนินโครงการสายสีส้มเกิดความล่าช้า จึงเป็นที่มาของการล้มประมูล แบบสายฟ้าฟาด ซึ่ง หลายคนไม่คาดคิดว่าผลจะออกมาในลักษณะเช่นนี้

 

ตัดหน้าศาลล้มสายสีส้ม

 

ทั้งนี้ นักวิชาการมีการตั้งข้อสังเกตว่า การล้มประมูลครั้งนี้ อาจเป็นเพราะคณะกรรมการฯ ทราบล่วงหน้าว่าศาลปกครองใกล้ พิจารณาคดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลักเกณฑ์การประมูล แล้วเสร็จในเร็วนี้ ซึ่งศาลอาจให้ยึดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เดิมในการประมูลนั่นคือยึดซองราคาที่เอกชนให้ประโยชน์ต่อรัฐ เพราะก่อนหน้านี้ ศาลได้มีคำสั่งทุเลาให้ใช้เกณฑ์ทีโออาร์เดิม เมื่อเป็นเช่นนี้หากคำสั่งศาลออกมาจะเป็นบรรทัดฐานให้ทุกโครงการต้องยึดถือปฎิบัติตามที่สำคัญตัวแปรของการล้มประมูลออกไปเท่ากับยุติคดี ที่มีระหว่างรัฐกับเอกชนและ ตามมาถึงการจำหน่ายคดีของศาล

 

ทั้งนี้ ปมร้อนคดีหมายเลขหมายเลขดำที่ 2280/2563 เกิดจาก คู่กรณี บริษัท ระบบขนส่งกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เป็นโจทย์ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกฯ ตามมาตรา36 ในฐานะจำเลย เมื่อวันที่17กันยายน 2563 กรณี เปลี่ยนหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูล สายสีส้ม นำซองเทคนิคพิจารณาร่วมกับซองการเงิน สัดส่วน ซองเทคนิค 30% ซองการเงิน 70% จากเงื่อนไขเดิมพิจารณาซองราคาเป็นเกณฑ์ภายหลังเอกชน10รายร่วมซื้อซองซึ่งมองว่าไม่ชอบธรรมและอาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบคู่แข่งขัน

 

ยึดเกณฑ์เทคนิค+ราคา

 

ขณะเดียวกันเกณฑ์ใหม่ ที่รฟม. ต้องเตรียม ออกประกาศและระเบียบหลักเกณฑ์การประมูลขึ้นใหม่ รฟม.ยืนยันว่ายังจะยึดหลักเกณฑ์ ที่แก้ไขไว้เดิม คือพิจารณาซองเทคนิคร่วมกับซองราคา แต่ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตของเอกชนว่า หากผ่านคะแนนเทคนิคแล้ว ยังมีการแบ่ง คะแนน ราคา 70% เป็น 60%+10% นั่นหมายถึง 10% อาจเปิดช่องให้กับคณะกรรมการฯสามารถใช้ดุลยพินิจ ชี้ขาดว่า สถานะความมั่นคงของบริษัทคู่แข่ง มีจุดด้อยกว่าจนทำให้เกิดการเสียเปรียบ หรือไม่

 

ค้านต้องเข้าครม.

 

หากย้อนไปก่อนหน้าที่ จะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์ ตามที่ เอกชนเสนอ คือ บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล็อปเม้นท์จำกัด(มหาชน) ITD ว่าสายสีส้มต้องใช้เทคนิคชั้นสูงเพราะเส้นทางส่วนใหญ่เป็นงานใต้ดินดังนั้นต้องให้เอกชนที่มีศักยภาพสูงมาดำเนินการ มากกว่าเน้นเรื่องราคาเพื่อความปลอดภัยผู้โดยสารและ ลดภาระการซ่อมสร้างรถไฟฟ้าในระยะยาว และนำไปสู่การแก้ไขทีหลักเกณฑ์การประมูล สายสีส้ม ใหม่

 

ก่อนประกาศให้เอกชนผู้ซื้อซองทราบในวันที่27สิงหาคม 2563 นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง กรรมการผู้แทนสำนักงบประมาณในคณะกรมการคัดเลือกฯ ไม่เห็นด้วย และมีหนังสือคัดค้านเมื่อวันที่ 28 กันยายน  2563 โดยสรุปว่า เนื่องจากประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลสายสีส้ม เป็นเรื่องใหญ่ต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพราะก่อนหน้านี้ได้ผ่านการอนุมัติ หลักเกณฑ์มาจากคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) และผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมครม.ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ควรให้ครม.รับทราบก่อน

 

ล้มประมูลไร้เหตุผล

 

อย่างไรก็ตามยังท้วงติงว่า การล้มประมูลสายสีส้มในครั้งนี้ ไร้เหตุผลรองรับ เมื่อเทียบกับ โครงการอื่น เพราะ 2.มีเอกชนซื้อซองและพร้อมแข่งขัน ชิงประมูล 2.ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยร้ายแรง 3. ไม่ใช้เกิดปัญหาเรื่องงบประมาณ 4. รัฐบาลไม่สั่งยกเลิกเส้นทางสายสีส้มเป็นต้น แม้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 จะยืนยันว่ มีอำนาจตามพรบ. ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มาตรา 38 (7) แต่ในทางปฏิบัติเป็นการใช้อำนาจเกิดจริง ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 จึงใช้ ระเบียบการออก หลักเกณฑ์ทีโออาร์ ของรฟม.หรือ RFP ข้อ 12 แทน เพื่อล้มประมูลครั้งนี้แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเมินว่าไม่ใช่เรื่องเล็กแน่นอน


ล้มสายสีส้ม

 

บีทีเอสรอศาล

 

อย่างไรก็ตาม มีกระแสออกมามายมายว่าเรื่องนี้ ยังไม่จบแค่เพียง รฟม.จะออกระเบียบเงื่อนการประมูลใหม่ แต่จะจบที่ศาลปกครองต่อเนื่องหรือไม่ เมื่อบีทีเอสซีออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า รอคำสั่งศาลปกครองพิจารณา ต่อคำถามที่ว่าจะฟ้องหรือไม่ นั้นต้องรอผลของศาลว่าออกมาอย่างไร

 

ต่อเรื่องนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีมติให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำชี้แจงรฟม.หลังจากนี้ต้องรอฝ่ายกฎหมายพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบีทีเอส ว่าการยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้นจะขัดกับข้อกฎหมายอย่างไรบ้าง 

 

ส่วนกรณีที่ศาลปกครองอยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวนถือว่าสิ้นสุด โดยรฟม.ต้องถอนฟ้องจากศาลปกครองหลังจากที่มีการยื่นอุทธรณ์ในช่วงที่ผ่านมา หากมีการประกาศเชิญชวนให้ประกวดราคาใหม่นั้นบีทีเอสก็ต้องพิจารณาเงื่อนไขรายละเอียดการประมูล (TOR) ก่อน

 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,651 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดไทม์ไลน์ประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” หลัง รฟม.ออกประกาศล้มประมูล

“ดร.มานะ”เตือนอย่าเอาผลประโยชน์ชาติเป็นเกมล้ม“รถไฟสายสีส้ม”

มี.ค.นี้ รฟม.เล็งเปิดประมูล "สายสีส้ม" รอบ 2

“วิษณุ” ยัน ล้มประมูลรถไฟฟ้าส้ม-เขียว ไม่มีกฎหมายพิเศษ

บอร์ดมาตรา 36 ไฟเขียวล้มประมูล "สายสีส้ม"