รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้กำกับหน่วยงานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั่ว กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมกว่า 14 สายทาง ระยะทางรวม 553.41 กม. มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 367 สถานี และจะทยอยเปิดให้บริการจนครบทุกสายถึงปี 2570 เบื้องต้น ทางกรมรางมีแนวคิดที่จะพิจารณาข้อมูลแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 2 ตามผลศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) หรือแนวคิด M-Map 2 ที่เคยศึกษาไว้ว่าจะต้องมีการก่อสร้างขนส่งสาธารณะระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าในระยะที่ 2 จำนวน 5 สายทาง ระยะทางรวม 130 กม.ซึ่งตามผลการศึกษามีแผนที่จะเริ่มดำเนินการปี 2564- 2565 คาดดำเนินการแล้วเสร็จระหว่างปี 2572-2573 ประกอบด้วย 1.สายแม่น้ำทางรถไฟสายเก่า-บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ 2.รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-รามอินทรา -ลำลูกกา 3 .รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสีแดง รังสิต-ธัญบุรี 4 .รถไฟสายใหม่ สถานีขนส่งสายใต้-หลักสี่ และ 5. รถไฟสายใหม่ บางหว้า-บางกะปิ
ล่าสุดไจก้าได้มีการนำเสนอแผนการดำเนินการโครงการ M-MAP2 ของ ไจก้า (ฝ่ายญี่ปุ่น) รวมถึงการหารือเพื่อเตรียมการศึกษาเรื่อง “Data Collection Survey on Railway Electrification (SRT)” ที่ JICA จะดำเนินการร่วมกับ รฟท. ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ซึ่ง ขร. พร้อมให้การสนับสนุนข้อมูลเพิ่มเติมในการศึกษาในเรื่องของรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ รวมถึงให้คำแนะนำ วิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย
ทั้งนี้แผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 2 ตามผลการศึกษามีเป้าหมายขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมรัศมีจากการให้บริการรถไฟฟ้าเดิมออกไปอีกรัศมี 20 กม. รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางรางตาม M-Map ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด และการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การขยายตัวของเมืองที่ปัจจุบันขยายมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนส่งเสริมการเดินทางโดยระบบขนส่งทางรางอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มผู้ใช้ระบบ MRT จาก 6.2 % เป็น 15% เมื่อเทียบกับระบบขนส่งอื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมราง จับมือ ไจก้า ลุยศึกษา M-Map เฟส 2 บูมระบบรางในกรุง
กรมราง ผุด 2 เส้นทาง ดึงเอกชนร่วมทุน อัพเกรดใช้รางรถไฟ
ด่วน กรมรางฯ ออกประกาศคุมเข้มรถไฟฟ้า-ระบบขนส่งทางราง รับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน