รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีเพจเฟซบุ๊กวัดเอี่ยมวรนุชได้โพสต์ข้อความถึงวิหารหลวงปู่ทวดถูกเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างสถานีบางขุนพรหมในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) นั้น เบื้องต้นทางกระทรวงคมนาคมได้ออกหนังสือสั่งการถึงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการแก้ปัญหาเพื่อลดผลกระทบในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว รวมทั้งลดพื้นที่ที่มีการเวนคืนที่ดินให้มากที่สุด ทั้งนี้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการเพิ่มเติมให้รฟม.รายงานข้อเท็จจริงทั้งหมดในครั้งถัดไป
“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ ทางกระทรวงฯมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้มาก เราพยายามดูแลอย่างดีที่สุด ภายในวันจันทร์ที่ 8 มี.ค.นี้ ทางกระทรวงคมนาคมจะติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง”
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า ล่าสุดทางกระทรวงฯ ได้สอบถาม รฟม.แล้วพบว่า โครงการฯ นี้ไม่ได้ดำเนินการเข้าพื้นที่เพื่อเวนคืนที่ดินของวิหารหลวงปู่ทวด วัดเอี่ยมวรนุช เนื่องจากโครงการฯ นี้เป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยใช้วิธีดำเนินการรอนสิทธิบริเวณใต้พื้นดิน ไม่ใช่การจัดกรรมสิทธิ์และนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในทันที แต่วิธีการรอนสิทธิจะดำเนินการถึงบริเวณรั้วของวัดเอี่ยมวรนุชและทางเดินเข้า-ออก ของวัดเท่านั้น ทั้งนี้ระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จจะมีการคืนพื้นผิวทางก่อสร้างบนพื้นดินต่อไป
“เมื่อมีการออกพ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดินจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ก่อนว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างในการก่อสร้าง ขณะเดียวกันที่ผ่านมา รฟม.กลับปักหมุดลงพื้นที่บริเวณวิหารหลวงปู่ทวด วัดเอี่ยมวรนุช เพื่อสำรวจพื้นที่บริเวณนั้น หากเป็นไปได้ภายในสัปดาห์หน้าเราจะเชิญที่ปรึกษาของโครงการฯ มาร่วมประชุมเพื่อขอดูรายละเอียดในการออกแบบโครงการฯ เพื่อหาแนวทางลดผลกระทบอื่นๆ เช่น สามารถย่อส่วนพื้นที่บริเวณดังกล่าว หรือไม่แตะต้องบริเวณพื้นที่วัดเอี่ยมวรนุชได้หรือไม่
รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม. ยืนยันไม่เวนคืนวิหารและเจดีย์เก่าวัดเอี่ยมวรนุชในโครงการรถไฟฟ้าสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก) เนื่องจากในขั้นตอนการสำรวจดังกล่าว เป็นเพียงการดำเนินการสำรวจแนวเขตทาง (Right of way) ในเบื้องต้นเท่านั้น โดยในการก่อสร้างสถานีดังกล่าว จะมีตำแหน่งทางขึ้น – ลง 4 ตำแหน่ง ดังนี้
1. ตำแหน่งทางขึ้น - ลง หมายเลข 1 ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดเอี่ยมวรนุช ใกล้สี่แยกวิสุทธิกษัตริย์
2. ตำแหน่งทางขึ้น - ลง หมายเลข 2 ตั้งอยู่บริเวณปั๊ม ปตท. ตรงข้ามวัดสามพระยา
3. ตำแหน่งทางขึ้น - ลง หมายเลข 3 ตั้งอยู่บริเวณโรงพิมพ์ศรีหงส์
4. ตำแหน่งทางขึ้น - ลง หมายเลข 4 ตั้งอยู่บริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนวิสุทธิกษัตริย์
ทั้งนี้จากการตรวจสอบ รฟม. ขอยืนยันว่า จะไม่มีการเวนคืนส่วนที่เป็นวิหารและเจดีย์เก่าของวัดเอี่ยมวรนุชตามที่ปรากฏในข่าว ทั้งนี้ รฟม. ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้เกี่ยวข้องของวัดเอี่ยมวรนุชแล้ว และในต้นสัปดาห์หน้า รฟม. พร้อมด้วยบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ จะเข้าชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดกับทางวัดต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เวนคืน “วิหารหลวงปู่ทวด”สร้างสถานีบางขุนพรหม รถไฟฟ้าสายสีม่วง